In News
คนชอบกินเค็มให้ระวัง!สารพัดโรคถามหา รัฐฯแนะลดเค็มเถะ! ก่อนสายเกินแก้
กรุงเทพฯ-รัฐบาล ห่วงคนไทย บริโภคโซเดียมเกินมาตรฐาน แนะลดเค็ม ป้องกันปัญหาสุขภาพระยะยาว และเสี่ยงเกิดโรคโรคร้ายอย่างเช่น ไตวาย มะเร็ง โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบตัน ความดันโลหิตสูง รวมไปถึง โรคกระดูกพรุน โรคอ้วน อัมพฤกษ์อัมพาต โรคหอบหืด เป็นต้น
วันที่ 31 ม.ค. 66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนถึงพฤติกรรมการบริโภคที่มีแนวโน้มการบริโภคอาหารที่มีความเค็มเกินมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลที่กรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกันรวบรวม พบว่าคนไทยบริโภคเกลือโซเดียมมากถึง 3,636 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน เกินเกณฑ์มาตรฐาน 2 เท่า ที่กำหนด คือ 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคร้ายอย่างเช่น ไตวาย มะเร็ง โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบตัน ความดันโลหิตสูง รวมไปถึง โรคกระดูกพรุน โรคอ้วน อัมพฤกษ์อัมพาต โรคหอบหืด เป็นต้น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยในชีวิตประจำวันแม้จะไม่ได้ปรุงอาหารเพิ่ม แต่ก็ได้รับโซเดียมจากอาหารธรรมชาติประมาณ 600 – 800 มิลลิกรัม โดยในหนึ่งวันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเปรียบเทียบกับเกลือ 1 ช้อนชา สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ควรบริโภคโซเดียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารให้ความเค็มต่างๆ ไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ เทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา เพื่อลดผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการลดการบริโภคโซเดียม สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ชิมอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง เพราะการปรุงอาหารอีกเป็นการเพิ่มโซเดียมโดยไม่จำเป็น ลดความถี่และปริมาณน้ำจิ้มของอาหารที่มีน้ำจิ้ม เช่น สุกี้ หมูกระทะ หอยทอด หลีกเลี่ยงการกินอาหารจานด่วน เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง อ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง เลือกอาหารที่มีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เป็นต้น