In News

อนุมัติร่างคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย เปิดช่องรับทรัพย์สินคืน-ชดใช้ ในคดีฟอกเงิน



กรุงเทพฯ-ครม.คืนความเป็นธรรม อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ....เปิดช่องร้องขอรับทรัพย์สินคืน-ชดใช้ ในคดีฟอกเงิน กรณีไม่มีความผิด

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินเสนอ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย โดยจะกำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มี 21 ลักษณะความผิด โดยผู้เสียหายที่ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจะมีสิทธิได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืน รวมถึงได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง โดยสรุปมีดังนี้

1. หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการยื่นคำร้อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องดังกล่าวภายใน 90 วันนับแต่สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของ ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยคำร้องต้องระบุข้อความให้ถูกต้องครบถ้วนพร้อมทั้งแนบหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเอง ทางไปรษณีย์ หรือช่องทางอื่นตามที่เลขาธิการ ปปง. ประกาศกำหนด และยังได้กำหนดให้บุคคลอื่นสามารถยื่นคำร้องแทนผู้เสียหายได้ในกรณีดังนี้ คือ ผู้แทนโดยชอบธรรม (กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์) ผู้อนุบาล (กรณีผู้เสียหายเป็นคนไร้ความสามารถ) ทายาท (กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย) และบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย

2. วิธีการพิเศษในการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายในความผิดบางมูลฐาน คือ การค้ามนุษย์และความผิดมูลฐานที่เกิดนอกราชอาณาจักร โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือถึง พม. (สำหรับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ) หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่รายงาน (สำหรับความผิดมูลฐานที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร) เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายและสถานการณ์ดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายนั้น

3. การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมและพนักงานอัยการ เมื่อได้รับคำร้องถูกต้องครบถ้วนแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายโดยเร็ว และจัดทำรายงานพร้อมความเห็นต่อเลขาธิการ ปปง. เพื่อให้ความเห็นชอบในการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้อง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนแก่ผู้เสียหาย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการธุรกรรมและสิทธิในการขอให้ทบทวนมติให้แก่ผู้เสียหาย บุคคลอื่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยทางไปรษณีย์ตอบรับหรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์

4. การจัดการทรัพย์สินเพื่อคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืน หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ให้ ปปง.ดำเนินการโดยเร็ว