In Thailand

จัดประกวดสุดยอดมะขามหวานประจำปี 2566ชิงถ้วยพระราชทาน



เพชรบูรณ์-ที่กองอำนวยการประกวดมะขามหวาน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดประกวดสุดยอดมะขามหวานประจำปี 2566 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

ที่กองอำนวยการประกวดมะขามหวาน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประกวดมะขามหวาน ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566 โดยมี นายสุภาร อภัยนอก หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและและพัฒนาเกษตรกร รักษาการเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการ และเกษตรกร เข้าร่วม

การประกวดสุดยอดมะขามหวาน   เพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของมะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวาน พัฒนาปรับปรุงคุณภาพ มะขามหวานให้มีความสม่ำเสมอ ได้มาตรฐานสินค้า ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนให้เกษตรกรตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี การจัดประกวดในครั้งนี้ มีการประกวดมะขามหวานจำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ศรีชมภู พันธุ์ขันตี พันธุ์สีทอง พันธุ์ประกายทอง และ พันธุ์อื่นๆ ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกมะขามที่สนใจร่วมส่งมะขามคุณภาพดี เข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง  494 ตัวอย่าง โดยผู้ชนะเลิศการประกวดแต่ละสายพันธุ์จะได้รับโล่และเงินรางวัล 10,000 บาท

สำหรับผลการประกวดมะขามหวานแต่ละสายพันธุ์  มีดังนี้ มะขามหวาน พันธุ์สีทอง ชนะเลิศ ได้แก่ นายอภิวรรณ  ขีดวัน  บ้านเลขที่ 199 หมู่ 12 ตำบลห้วยใหญ่  อำเภอเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์

พันธุ์ประกายทอง  ชนะเลิศ ได้แก่ นางเสริม  กัณหา   บ้านเลขที่ 116 หมู่ 3 ตำบลซับเปิบอำเภอวังโป่ง  จังหวัดเพชรบูรณ์

พันธุ์สีชมพู  ชนะเลิศ ได้แก่ นางปอ   โคตรสุวรรณ  บ้านเลขที่ 180 หมู่ 7 ตำบลซับเปิบอำเภอวังโป่ง  จังหวัดเพชรบูรณ์

พันธุ์ขันตี  ชนะเลิศ ได้แก่ นางสร้อยประสิทธิ์  บุญกิต  บ้านเลขที่ 85/1 หมู่ 13 ตำบลวังบาลอำเภอหล่มเก่า  จังหวัดเพชรบูรณ์ มะขามหวานพันธุ์อื่นๆ ชนะเลิศ ได้แก่ พันธุ์เพชรอัมพร  นางสาวภิญญาพัชร์   คำแว่น   บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ 3 ตำบลตาดกลอย  อำเภอหล่มเก่า  จังหวัดเพชรบูรณ์

ในส่วนของรางวัลชนะเลิศที่จะได้รับถ้วยพระราชทาน คณะกรรมการจะนำมะขามหวานทั้ง 5 สายพันธุ์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ มาประกวดอีกรอบ เป็นสุดยอดมะขามหวานเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566 เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยลงพื้นที่เก็บคะแนนในสวนของแต่ละสายพันธุ์ โดยจะต้องเป็นสวนที่มี การบริหารจัดการสวน   สร้างองค์ความรู้ที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน สามารถพัฒนาเป็นเกษตรกรต้นแบบสวนมะขาม เผยแพร่ขยายผลให้แก่สาธารณชนได้ และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 จะเป็นพิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบให้ผู้ชนะเลิศสุดยอดมะขามหวานเพชรบูรณ์แห่งปี 2566 พร้อมรับเงินรางวัล 10,000 บาท