In Thailand

เปิดการแข่งขันงานศิลปหัตกรรมนักเรียนระดับชาติครั้งที่70



ร้อยเอ็ด-เริ่มอย่างเป็นทางการ! รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการแข่งขันงานศิลปหัตกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปี 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด

วันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 18.30 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ลานสาเกตนคร หน้าหอโหวด 101 สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต้อนรับ และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายประเสริฐ วรสาร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1 ส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน คณะครู และนักเรียนเข้าร่วมในพิธี

จังหวัดร้อยเอ็ดได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพฯ ภายใต้แนวคิด “หัตถกรรมศิลป์ล้ำสมัย เทคโนโลยีไทยล้ำหน้า สืบสานภูมิปัญญา ไทยก้าวหน้าสู่สากล” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาทั้ง ระดับปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐานของเขตพื้นที่การศึกษาใน 20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาถูกทางและมีความสอดคล้องกับแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างดี

โดยจัดการแข่งขันทักษะทางวิชาการ แบ่งการแข่งขันเป็นระดับปฐมวัย - ประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับการศึกษาพิเศษ แบ่งเป็นกลุ่มสาระต่าง ๆ กว่า 200 กิจกรรม อาทิ คณิตศาสตร์ ศิลปะ-ทัศนศิลป์ คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ส่วนสนามการแข่งขันฯ ครอบคลุมทั้ง 20 อำเภอ จัดการแข่งขันกว่า 283 รายการแข่งขัน โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2566

สำหรับงานแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดขึ้นในนามกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงริเริ่มการจัดงานศิลปหัตถกรรมสืบสานถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง และสานต่อเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาที่มุ่งหวังให้การจัดงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน เป็นเวทีให้นักเรียนแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ พัฒนาทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ และทักษะชีวิต โดยการจัดงานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการจัดการแข่งขันให้เป็นปัจจุบัน ไม่เน้นที่การแพ้ ชนะ แต่เน้นการพัฒนา การแสดงออกให้เต็มกำลัง ให้เกียรติกับตนเอง และเพื่อนที่ร่วมกิจกรรม

รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเองในสถานการณ์นั้นๆ สอดรับกับนโยบายและบริบทการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนไป สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค และการส่งเสริม SOFT POWER ในบริบทของแต่ละท้องถิ่น ผ่านการแสดงในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการนำเสนอนิทรรศการที่มีชีวิต