In News
นายกฯเดินหน้าส่งเสริมอุตฯ-เทคโนโลยี ดันความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นรุกในทุกระดับ
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ผลักดันความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ต่อยอดการค้าการลงทุนทั้งในระดับท้องถิ่นถึงนิคมอุตสาหกรรม
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ภายหลังกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ผลักดันความร่วมมือด้วยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงนิคมอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดการค้าการลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร และถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นแห่งที่ 23 ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นตัวแทนหลักในการประสานความร่วมมือในลักษณะพื้นที่ต่อพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้า รวมทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (Cluster) ภายใต้แนวคิด OTAGAI หรือ โอ-ทา-ไก ที่แปลว่า “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันการประชุมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม (OTAGAI Forum) ครั้งที่ 22 ที่เมืองนานาโอะในจังหวัดอิชิกาวะ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ เพื่อผลักดันความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรม Carbon-fiber-reinforced polymers จากการประยุกต์ใช้เส้นใยกัญชง เป็นความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรม BCG และความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ตลอดจนกระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยจำนวนกว่า 6,000 กิจการ
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยการส่งเสริมความร่วมมือ และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับความต้องการเริ่มตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนให้มีความหลากหลายในทุกประเภทธุรกิจอุตสาหกรรม ตลอดจนสามารถขยายความร่วมมือไปยังมิติอื่น ๆ ทำให้สินค้ามีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือจะเป็นโอกาสสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว