In Thailand
คณะทำงานตรวจผลกระทบนครราชสีมา ลงพื้นที่เหมืองโปแตชเก็บตัวอย่างดิน-น้ำ
นครราชสีมา-คณะทำงานตรวจผลกระทบ จ.นครราชสีมา ลงพื้นที่เหมืองโปแตช เก็บตัวอย่างดินและน้ำ ส่งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน หาสาเหตุปัญหาความเค็มในพื้นที่
หลังจากชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ด่านขุนทด ได้ร้องเรียนต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการลงมาตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด เนื่องจากเกิดปัญหาความเค็มกระจายตัวทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำกินในที่ดินได้ แหล่งน้ำสาธารณะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และบ้านเรือนเกิดความเสียหายจากการถูกเกลือกัด
จากการร้องเรียนดังกล่าว ทางจังหวัดได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทั้งการทำแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และคณะทำงานลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเก็บตัวอย่าง ดิน น้ำ และน้ำใต้ดินเพื่อนำไปตรวจหาสาเหตุของความเค็มในพื้นที่
ในวันที่ 30 และ 31 ม.ค. 66 ได้มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลดังกล่าว โดยมีการวางแผนการจุดเก็บตัวอย่างร่วมกัน และดำเนินการเก็บตัวอย่างของดิน น้ำ และน้ำใต้ดิน บริเวณโดยรอบโครงการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ซึ่งพบว่าหลายจุดปรากฏความเค็มเกินค่ามาตรฐาน แต่ในส่วนจุดตรวจภายในเขตโครงการชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งการเก็บตัวอย่างต่างๆ จะถูกนำไปตรวจที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประกอบกับการตรวจสอบจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 และสถานีพัฒนาที่ดิน นครราชสีมา
ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าว ทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยังคงมีความห่วงกังวลต่อการเก็บตัวอย่างภายในบริษัทฯ เพราะในช่วงต้นเดือนมกราคม ได้มีการสูบน้ำออกจากบ่อ เพื่อทำการปูผ้ายางรองบ่อตามกฎหมาย (หลังถูกชาวบ้านร้องเรียนกรณีไม่ทำตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA) ซึ่งเหตุนี้ก็อาจทำให้หลักฐานบางอย่างหายไป อีกทั้งการตรวจสอบภายในเหมืองก็ไม่ได้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าไปร่วมด้วยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในวันดังกล่าว ยังมีความพยายามจากทางหน่วยงานรัฐที่เสนอให้มีการทำข้อตกลงสามฝ่ายร่วมกัน ระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานราชการ และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ โดยทางกลุ่มฯยืนยันว่าไม่ขอร่วมทำข้อตกลงใดๆกับทางบริษัทฯ และขอให้เป็นหน้าที่ขอรัฐโดยตรงในการตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริง และหากผลการตรวจสอบออกมาเป็นประการใด หน่วยงานของรัฐต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อดำเนินการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบในพื้นที่ต่อไป