In News
เขตSECRIเมืองคอนคืบคาดปี67ชัดเจน ชาวสวนยางเฮ!ประกันยาง7.64พันล.ฉลุย
กรุงเทพฯ-ข่าวดีชาวสวนยาง รอเลยเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SECri)สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในปีงบประมาณ 2567 เคาะแล้วประกันรายได้ระยะ4 กรอบวงเงิน 7.64 พันล้านบาท ชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน30มิ.ย.65จำนวน1.6ล้านรายพื้นที่สวนยางกรีดรวม18 ล้านไร่ ระยะเวลาโครงการ ม.ค.66 - ก.ย. 66
วันที่่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (South Economic Corridor Rubber Innovation: SECri) จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามความก้าวหน้าและสั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในปีงบประมาณ 2567 โดยผลการศึกษาความเหมาะสมทางกายภาพ จะให้ใช้พื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของ กยท.โดยแบ่งเป็นสองส่วนคือ 1) พื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและนวัตกรรมยางพารา จำนวน 3,500 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.ช้างกลาง และ 2) พื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรมสวนอย่างยั่งยืนและเกษตรกรรมสวนยางแบบผสมผสาน จำนวน 3.3 หมื่นไร่ ที่ อ.ช้างกลาง และ อ.ทุ่งใหญ่
นางสาวรัชดา กล่าวว่า กระทรวงเกษตร โดยกยท. ตั้งเป้าให้โครงการนี้เป็นพื้นที่รองรับการพัฒนายางพาราและส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรรมสวนอย่างยั่งยืนและแบบผสมผสาน สอดรับกรอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ที่เน้นอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง ที่มีการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านยางพารา เพื่อการใช้ประโยชน์ยางพาราครบวงจร การสร้างโรงงานต้นแบบสำหรับการผลิตนวัตกรรมยางพารา รวมถึงส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการใหม่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยขณะนี้ มีบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจในโครงการแล้วหลายราย ทั้งผู้ผลิตยางต้นน้ำ ผู้ผลิตปลายน้ำ (สินค้าปลายน้ำ เช่น ถุงมือยาง ยางทางเภสัชกรรและการแพทย์ พื้นรองเท้ายาง) และผู้พัฒนาพื้นที่
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบระยะเวลาโครงการ 7 ปี คาดว่าจะนำไปสู่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ถึง 6.8 แสนล้านบาท สร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้มากถึง 45,000 คน และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางปีละไม่น้อยกว่า 16,000 บาทต่อไร่ โดยการใช้พื้นที่จะประกอบด้วย พื้นที่สำนักงานของหน่วยงานรัฐและเอกชน ศูนย์อบรม ศูนย์ชุมชน พื้นที่โรงงาน คลังสินค้า พื้นที่ต้นแบบสวนยางยั่งยืน ตลาดกลาง ที่อยู่อาศัย อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
นางสาวรัชดา ยังได้แจ้งให้ทราบถึงการพิจารณาโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่4 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการยางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงิน 7.64 พันล้านบาท เพื่อประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวน 1.6 ล้านราย พื้นที่สวนยางกรีดรวม 18 ล้านไร่ ระยะเวลาโครงการ ม.ค.66 - ก.ย. 66 (ประกันรายได้เดือน ต.ค. - พ.ย. 65) โดย กยท.จะเป็นผู้เสนอขอรับการจัดสรรงบกลางประจำปีงบประมาณ 2566 จากคณะรัฐมนตรีต่อไป