In News
รัฐบาลเร่งยกระดับป้องกันภัยฝุ่นPM2.5 แพทย์ชี้ที่มาโรคร้าย/คาดลดลง5ก.พ.นี้
รัฐบาลยกระดับป้องกัน PM 2.5 นายกฯ กำชับลด PM 2.5 ปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน
รัฐบาลยกระดับป้องกัน PM 2.5 นายกฯ กำชับลด PM 2.5 ปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน
กรุงเทพฯ-วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมาตรการที่จะดำเนินการว่า ตามที่กรมควบคุมมลพิษได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ปัจจุบันค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ประเทศไทยตอนกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นภาคใต้ ขณะที่กรุงเทพมหานครและในเมืองใหญ่ ๆ สถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ก็อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยระดับค่า PM2.5 กรุงเทพฯ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และหลายเขตอยู่ในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ด้าน 17 จังหวัดภาคเหนือ ก็อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยส่วนใหญ่ มี 3 พื้นที่อยู่ในระดับสีแดง สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เริ่มมีจุดความร้อน 1,200 จุดกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่ามีจุดความร้อนรวมกันอยู่ในหลายพื้นที่สำคัญ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดย 15 จังหวัดที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ชัยภูมิ ตาก เพชรบูรณ์ ลพบุรี ลำปาง เชียงราย พะเยา ราชบุรี แพร่ เชียงใหม่ กาฬสินธุ์ อุตรดิตถ์ และนครราชสีมา นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมยังแสดงให้เห็นว่าเริ่มมีหมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านคือ กัมพูชา เมียนมา และลาว ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติ ค่า PM 2.5 ในภาคเหนือ กรุงเทพฯ ภาคตะวันออก จะอยู่ในช่วงมาตรฐาน อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นฤดูหนาวและอากาศปิด ค่า PM 2.5 จะเริ่มมีค่าเกินมาตรฐานและจะเริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพ แต่ในช่วงที่อากาศปิดและมีการเผา มีจุดความร้อนเกิดขึ้น จะทำให้ค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานไปจนมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอย่างในปัจจุบัน ทั้งในภาคเหนือ กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายปิ่นสักก์ กล่าวถึงการคาดการณ์ PM 2.5 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า PM 2.5 จะแปรผันกับภาวะอุณหภูมิผกผัน กับการที่มีเพดานการลอยตัวของอากาศต่ำ โดยจากโมเดลของกรมควบคุมมลพิษจะพบว่า ค่า PM 2.5 จะลดลงในวันที่ 5 ก.พ.นี้ โดยลดลงมาอยู่ในระดับปานกลางจนถึงวันที่ 7 ก.พ. จะลดลงมาอยู่ในระดับค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพฯ และ 17 จังหวัดภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม ช่วงวันที่ 1-4 ก.พ. ค่า PM2.5 จะอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบและมีผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงได้กำชับให้มีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อจะลด PM 2.5 ลง เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามแผนที่มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับกรุงเทพมหานคร ในระดับที่ 3 คือเริ่มให้มีการ Work From Home เพื่อลดการจราจร เพื่อลดแหล่ง PM 2.5 ที่เกิดจากภาคการขนส่ง รวมถึงเข้มงวดเรื่องการก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง ส่วนในพื้นที่อื่นจะดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจ ปี 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command ในการยกระดับการลดการเผาอย่างเด็ดขาดในช่วงวิกฤต รวมถึงมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านโปรแกรม Burn Check เพื่อให้สามารถควบคุมจุดความร้อนได้ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้ค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานจนสูงเกินไป ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษขอให้ประชาชน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ PM 2.5 โดยใช้แอปพลิเคชัน Air4Thai เพื่อดูในภาพรวมของประเทศ และในส่วนของกรุงเทพฯ ใช้แอปพลิเคชัน Air BKK เพื่อให้ทราบสถานการณ์ PM 2.5 และทราบมาตรการที่เหมาะสมเพื่อระวังสุขภาพ
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร กรรมการบริหารสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย/ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า สำหรับ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งสามารถหายใจเข้าไปได้ โดยฝุ่นปกติที่มีขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่บริเวณหลอดลม แต่ฝุ่นที่มีขนาด 2.5 จะผ่านเข้าไปในปอด กระแสโลหิต และเข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิดการระคายเคือง ซึ่งนอกจากระบบทางเดินหายใจ ยังส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงต่อเส้นเลือดในสมองอุดตันและแตก ส่วนในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อโรคทางหัวใจ การทำงานของไตเสื่อม โรคเบาหวานและเกี่ยวข้องกับมะเร็งปอด ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เมื่อมีอาการแสบตาหรือแสบจมูกอย่าใช้นิ้วขยี้ โดยให้รักษาตามอาการ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมในการยกระดับมาตรการการดำเนินการ ที่ได้มีข้อปฏิบัติในเบื้องต้นไปแล้ว รวมถึงได้มีการลงพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูล และมีการสั่งการเพิ่มเติมในระดับพื้นที่ด้วย ฉะนั้นการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อยากที่จะให้ดำเนินการพร้อมกับความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในเบื้องต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอนาคต ที่จะต้องมีการลดในเรื่องการเดินทาง ที่ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเรื่องขนส่งสาธารณะต่าง ๆ รถไฟฟ้า EV ที่เป็นแผนระยะยาว อาจไม่ได้ส่งผลให้เห็นในระยะสั้น แต่ในอนาคตจะทำให้สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศประเทศไทยสามารถที่จะกลับมาสดใส ไม่เป็นผลต่อสุขภาพของประชาชน