In News

รัฐฯเดินหน้าส่งเสริมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตั้งเป้าปี 2566เพิ่มอีก15แห่ง



กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City อย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้า ปี 2566 เพิ่มอีก 15 แห่ง เช่น ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ชลบุรี และ พื้นที่เทศบาลในตัวเชียงใหม่ รวมถึงบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้มีเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นเป็น45แห่ง

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564-2565) มีเมืองที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) กว่า 30 แห่ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานช่วยพัฒนาเมือง การรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะเท่ากับการยกระดับเมืองให้พัฒนา

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นหมุดหมายสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง สามารถลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียังได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยประจำปี 2565 แก่ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) จำนวน 15 เมือง ซึ่งได้รับการประเมินว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมูลค่ารวมกว่า 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2566 รัฐบาล และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า (depa) ตั้งเป้าเพิ่มเมืองอัจฉริยะอีก 15 แห่ง เช่น ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ชลบุรี และ พื้นที่เทศบาลในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ รวมถึงบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้มีเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นเป็น 45 แห่ง

โฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาเมืองอัจฉริยะมีหลายลักษณะ ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 3. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 4. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 5.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ 7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) โดยเมืองอัจฉริยะยังได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี รวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาทั้งพื้นที่ ระบบ และนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะอีกด้วย

“นายกรัฐมนตรี รับทราบและยินดีกับความคืบหน้าของโครงการ Smart City ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแผนการดำเนินงานเมืองอัจฉริยะที่ว่านี้ จะช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาของเศรษฐกิจ และการจัดการด้านต่าง ๆ ภายในเมืองที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณไปยังทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการร่วมพัฒนาแผนงานนี้ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนา ตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลอย่างดีเสมอมา” นายอนุชาฯ กล่าว