In Global

เดินหน้าต่อเนื่องต่อต้านทุจริตในองค์กร 'กทม.'ย้ำทุกหน่วยงานต้องโปร่งใส



กรุงเทพฯ-(6 ก.พ. 66) นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้อง War Room ศตท.กทม. และผ่านระบบออนไลน์ 

กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) เพื่อเป็นหน่วยกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์์ด้านการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ การป้องกันการทุจริตเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่หรือมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต เพื่อลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดการทุจริตในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร  และได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการดำเนินการลงพื้นที่ในเรื่องพิเศษ (เฉพาะกิจ) ในการสอบสวนจับกุม ตลอดจนวางแผนจับกุม โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ซึ่งห้อง War Room ศตท.กทม. จะตั้งอยู่ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

โดยประเด็นสำคัญจากที่ประชุมวันนี้ มีมติเห็นชอบให้ผู้อำนวยการ ศตท.กทม. เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. หรือผู้แทน ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นคณะทำงาน หรือกำหนดพื้นที่หรือภารกิจในการตรวจสอบเชิงรุก และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนได้โดยตรง

ในการนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ประธานกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตแจ้งผู้อำนวยการเขตทุกเขตให้กำชับหน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ทราบถึงการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ ศตท.กทม. และให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในเรื่องของข้อมูล/เอกสาร สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะผู้บริหาร หากพบเห็นพฤติกรรมการทุจริตหรือการเรียกรับสินบนให้แจ้งเบาะแสทันที พร้อมเน้นย้ำว่า ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใสตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

ที่ประชุมวันนี้ได้มีการรายงานเพื่อทราบถึงประเด็นสำคัญจากการประชุม ศปท.กทม. ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียด 4 ประการ ดังนี้  ประการที่ 1 กรุงเทพมหานครไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกรณีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ และไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญาฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ดังนั้น ในการจับกุมต้องมีตำรวจจาก บก.ปปป. ร่วมด้วย และปรับรูปแบบการรับเรื่องให้เป็นเชิงรุก บางเรื่องอาจจะรุกตรวจเป็นพิเศษ เช่น หาบเร่แผงลอย ส่วย ควรมีโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ แยกจากสำนัก สำนักงาน ก.ก. สำนักงานเขต และควรมีเกณฑ์ในการรับเรื่องที่ชัดเจน 

ประการที่ 2 เห็นชอบให้ ศตท.กทม. ผลักดันนโยบาย เร่งรัด กำกับ ติดตาม การดำเนินมาตรการ/โครงการ/กิจกรรม ประกอบด้วย มาตรการสนับสนุนการบูรณาการนโยบายข้อมูลเปิด // การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (กรุงเทพมหานครและสำนักงานเขต) // การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตสำหรับโครงการที่มีงบประมาณตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป // โครงการหน่วยงานต้นแบบปลอดการทุจริต และให้รางวัลหน่วยงานที่ได้รับคะแนนสูง // กิจกรรมกำหนดมาตรการพักราชการ การให้ออกจากราชการไว้ก่อนกรณีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกรณีเรียกรับสินบนทุกเรื่อง // โครงการบูรณาการช่องทางและระบบการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมคอร์รัปชันและแสดงผลการร้องเรียนเปิดเผยต่อสาธารณชน // โครงการเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริตและสแกนพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต // โครงการพัฒนาเครือข่ายธรรมาภิบาลและส่งเสริมคุณธรรมประจำหน่วยงาน จัดตั้งชมรม STRONG กรุงเทพมหานคร องค์กรพอเพียงต้านทุจริต // แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต เพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใส สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2566 - 2570) ของกรุงเทพมหานคร และรายงานผลการปฏิบัติงานให้ ศปท.กทม. ทราบต่อไป

ประการที่ 3 เห็นชอบให้นำหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งประจำสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น จำนวน 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้นหรือระดับสูง จำนวน 6 ตำแหน่ง ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ จำนวน 12 ตำแหน่ง ซึ่งได้กำหนดขึ้นเพื่อรองรับในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกร้องเรียนที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย หรือหย่อนประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ เป็นแนวทางการย้ายบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของกรุงเทพมหานคร มาใช้ ทั้งนี้ ในการย้ายบุคคลที่มีเรื่องร้องเรียนกรณีทุจริต เรียกรับเงินหรืออามิสสินจ้างต่าง ๆ การใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่นให้เกิดผล ให้ใช้มาตรการอื่นประกอบด้วย ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงควบคู่กับการสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 และกรณีผู้ดำรงตำแหน่งประเภทและระดับอื่น เช่น ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการลงมา ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโสลงมา เป็นต้น และรวมถึงข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครด้วย หากมีความประพฤติไม่เหมาะสมอย่างเดียวกัน ให้ใช้มาตรการสั่งช่วยราชการของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามกฎหมาย และให้ใช้มาตรการอื่นประกอบด้วย ได้แก่ การแต่งตั้งคณกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงควบคู่กับการสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565

ประการที่ 4 เห็นชอบให้รับเรื่องความร่วมมือในการตรวจสอบมาตรการเชิงรุกและการร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีการร้องเรียนปัญหาหาบเร่แผงลอย ตามที่ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ท. นำเสนอ ไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

นอกจากนี้ ได้มีการรายงานเพื่อทราบในเรื่องของการติดตามคดีทุจริต ซึ่งสำนักงาน ก.ก. ได้มีการจัดทำระบบติดตามฯ แยกตามประเภทข้อมูลการทุจริต 10 ประเภท ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับผลประโยชน์ การยักยอกเงินเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีประเภทต่าง ๆ การนำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว การเบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจส่วนตัว การจัดการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานที่เข้าข่ายการทุจริต การจ่ายเงินต่าง ๆ ที่เข้าข่ายการทุจริต การเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาที่เข้าข่ายการทุจริต การแสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้าย และกรณีทุจริตอื่น ๆ 

ส่วนเรื่องนโยบายต่อต้านการรับสินบน (Anti-Bribery Policy) นั้น สำนักงาน ก.ก. ได้จัดทำร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง นโยบายต่อต้านการรับสินบน (Anti-Bribery Policy) และแนวทางปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการรับสินบน (Anti-Bribery Policy) ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ข้าราชการกรุงเทพมหานคร บุคลากรกรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานอื่นในกรุงเทพมหานคร ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการต่อต้านการรับสินบน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเรียนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาลงนาม

ทั้งนี้ หากต้องการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส สามารถแจ้งได้โดยตรงถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะ หัวหน้า ศปท.กทม. รองปลัดกรุงเทพมหานคร (นายเฉลิมพล โชตินุชิต) ในฐานะ หัวหน้า ศตท.กทม. และหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. หรือผู้อำนวยการกองวินัยและเสริมสร้างจริยธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์ ผ่านระบบ Traffy Fondue หรือทางไปรษณีย์ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เลขที่ 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทร. 0 2224 2963 หรือ 1555 และอีเมล anticorrupt.bma@gmail.com