In Bangkok

กทม.แจงแนวทางการติดตั้งป้ายหาเสียง เลือกตั้งส.ส.เฉพาะในจุดที่กำหนด



กรุงเทพฯ-นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน (สปท.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตป้ายหาเสียงกีดขวางทางสัญจรทั้งที่ยังไม่มีประกาศเลือกตั้งว่า กรุงเทพมหานคร โดย สปท.ได้ประสานแจ้งสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต แจ้งแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป อันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยการหาเสียงเลือกตั้งให้กระทำได้ตั้งแต่ 180 วัน ก่อนวันครบอายุถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง ตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และในกรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองสามารถปิดประกาศ หรือปิดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง โดยวิธีการจัดทำ ขนาด จำนวน และสถานที่ให้ถือปฏิบัติตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครประกาศกำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ตามข้อ 6 (9) ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 และให้งดเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ตามมาตรา 10 วรรคสาม

ทั้งนี้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 ดังนี้ (1) ขนาดของแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะติดได้ มีขนาดกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร (ซม.) และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 ซม. (2) วิธีการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชน หรือต่อยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ หรือประชาชน และจะต้องไม่กีดขวาง ทางสัญจร การจราจร และต้องไม่ติดทับซ้อนกับแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และพรรคการเมืองอื่น หรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกบริเวณที่กำหนด

นอกจากนั้น ยังได้ประสานแจ้งสถานที่ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้กำหนดให้เป็นสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 รวมทั้งแจ้งแนวทางการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.โดยการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.สามารถติดได้เฉพาะจุดที่กำหนด กรณีกำหนดเป็นถนนให้หมายความรวมถึงซอยที่แยกจากถนนด้วย ทั้งนี้ ห้ามมิให้ติดบนผิวการจราจร เกาะกลางถนน บริเวณปากซอย สะพานลอยเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้ว หรือกำแพง หรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร ตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ อนุสาวรีย์ ป้อมตำรวจ สุขาสาธารณะ สนามหลวง สวนหย่อม สวนสาธารณะ วงเวียนทุกวงเวียน ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ถนนโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา ลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินใน กรณีผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งไม่ถูกต้อง หรือเกินขอบเขตที่กำหนด ให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจสั่งผู้สมัครให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่แก้ไขภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมการฯ มีอำนาจรื้อถอน หรือปลดออก หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการโดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองนั้น และคณะกรรมการฯ อาจนำมาเป็นเหตุในการสืบสวน หรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดได้ 

นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กล่าวว่า สนท.ได้ประสานสำนักงานเขต กรณีป้ายที่เข้าข่ายลักษณะเป็นป้ายหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ติดตั้งไว้ ณ สถานที่ที่อนุญาตให้ปิดประกาศหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละเขตเลือกตั้งให้แจ้งเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าของป้ายไม่ปฏิบัติตามให้เก็บป้ายหาเสียงได้ทันที สำหรับการติดตั้งแผ่นป้ายหาเสียงในซอยจะต้องมีระยะห่างจากปากซอยไม่น้อยกว่า 10 เมตร ส่วนการติดที่เสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้เป็นไปตามประกาศที่ กฟน.กำหนด ส่วนป้ายผิดกฎหมายอื่น ๆ สนท.ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราและดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ โดยเฉพาะป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก่อให้เกิดปัญหากีดขวางทางสัญจร บดบังทัศนียภาพของผู้ขับขี่ยวดยาน ทำลายทัศนียภาพของเมือง และปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้สัญจรไปมา การติดตั้งป้ายดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โดยตั้งแต่เดือน พ.ค.61 - 5 ก.พ.66 ได้จับกุมดำเนินคดีผู้ติดป้ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว 6,017 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 16,462,900 บาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.ได้ตรวจตราสอดส่อง กวดขันจับปรับผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป