In Bangkok
กทม.เสนอกฟน.ปรับก่อสร้างบนผิวจราจร มุ่งลดผลกระทบจราจร-ความปลอดภัย

กรุงเทพฯ-(7 ก.พ. 66) รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การปรับปรุงวิธีการดำเนินงานก่อสร้างบนผิวจราจรในการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งจัดโดยการไฟฟ้านครหลวง โดยให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ถึง เดือนธันวาคม 2565 ในกรุงเทพมหานครเกิดถนนทรุดจากการดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้ว จำนวน 15 ครั้ง ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการแก้ไข 1 - 2 วัน ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านการจราจรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วน ดังนั้นการที่การไฟฟ้านครหลวงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ มาให้ความเห็นและร่วมกันแก้ไขปัญหาในวันนี้ทำให้มีแนวทางในการดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ วิศณุได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สามารถจะร่วมกันแก้ไข เช่น กรณีเหตุถนนทรุดตัวบริเวณใต้สะพานข้ามแยกเจริญราษฎร์ ถ.พระราม 3 ให้บริษัทผู้รับจ้างทำการเจาะสำรวจแล้วทำการประเมินเพื่อหาแนวทางการซ่อมแซมถาวรต่อไป โดยควรทำการประเมินการเคลื่อนตัวอยู่เป็นประจำ ส่วนกรณีโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ถ.พระราม 3 ทำให้เกิดถนนทรุด ให้บริษัทผู้รับจ้างทำการปรับปรุงคุณภาพดินรอบบ่อ ด้วยวิธี Jet Grouting เพื่อให้ชั้นดินมีเสถียรภาพ มั่นคงแข็งแรง ต่อการขุดเจาะด้วยวิธีดึงท่อลอด (Horizontal Directional Drilling : HDD) และควรใช้ความระมัดระวังในการก่อสร้างมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ กฟน. สแกนโพรงที่อาจจะมีอยู่ใต้ถนนก่อน - ระหว่าง - และหลังดำเนินการก่อสร้างบ่อพัก เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการทรุดตัวอีกในอนาคต โดยกรุงเทพมหานครได้แจ้งให้ กฟน.ปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนดำเนินโครงการต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจของประชาชนต่อโครงการก่อสร้างของ กฟน.
สำหรับการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การปรับปรุงวิธีการดำเนินงานก่อสร้างบนผิวจราจรในการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง มีนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานการประชุม นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายสุประชา บวรโมทย์ ผู้อำนวยการกองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาร่วมให้ความคิดเห็น อาทิ ศ.นพดล เพียรเวช จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนภัสพงศ์ จงใจวาณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอส ที เอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผู้แทนบริษัทผู้รับจ้างจากการไฟฟ้านครหลวง