In Bangkok
2รองผู้ว่าฯติวทักษะความคิดสร้างสรรค์แก่ 'นักจัดการเมือง"รุ่น1-2รวม72คน

กรุงเทพฯ-(7 ก.พ. 66) เวลา 13.00 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ดร.ภาส ภาสสัทธา ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรในหัวข้อทักษะความคิดสร้างสรรค์เพื่อการบริการสาธารณะ แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพมหานคร กลุ่มตำแหน่ง "นักจัดการเมือง" รุ่นที่ 1 - รุ่นที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รวม 72 คน ณ ห้อง KSS-801 ชั้น 8 อาคารเกษมศรี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เขตดุสิต โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นวิทยากรผ่านระบบการประชุมทางไกลจากสหราชอาณาจักร โดยระหว่างการฝึกอบรม วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ด้วย
โอกาสนี้ ดร.ภาส ได้กล่าวถึงหลัก 3 ประการในการเป็นผู้ให้บริการของกรุงเทพมหานคร พร้อมกล่าวถึงหลักกฎหมายและกรณีที่สามารถยืดหยุ่นได้ว่า กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษซึ่งต้องดูแลพี่น้องประชาชนกว่า 10 ล้านคน ควรมีหลักในการเป็นผู้ให้บริการแก่พี่น้องประชาชน ดังนี้ "โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ประชา" ซึ่งหลักทั้ง 3 ประการ จะสามารถสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างกรุงเทพมหานครในฐานะผู้ให้บริการกับประชาชนในฐานะผู้รับบริการได้
ในเรื่องของกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ นั้น มีไว้เพื่อให้เราอยู่ในกรอบหรือทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเคร่งครัด แต่ขณะเดียวกัน หากเราจะต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาในกระบวนการทำงานก็สามารถยืดหยุ่นได้ในบางกรณี แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ด้าน รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวถึงเรื่องการนำความคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้กับกรุงเทพมหานครว่า ที่ผ่านมา กทม.อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่เราเชี่ยวชาญในเรื่องของการควบคุมด้วยกฎเกณฑ์และดำเนินการตามระเบียบต่าง ๆ และนำกฎระเบียบเหล่านี้มาใช้ในการดูแลเมือง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมือง/การแก้ปัญหาเมืองภายใต้กรอบกฎหมายหรือกฎระเบียบนั้นสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปได้ โดยใช้ 4 กระบวนการ ได้แก่
1. การปรับบทบาทของข้าราชการ หากเราอยากจะเปลี่ยนแปลง จะต้องเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนกระบวนการทางความคิดจาก Fixed mindset เป็น Growth mindset นำกระบวนการคิดแบบ Design Thinking (Empathise=ทำความเข้าใจ Define=กำหนดปัญหา Ideate=ระดมความคิด Prototype=สร้างต้นแบบที่เลือก และ Test=ทดสอบหรือทดลองทำ) เข้ามาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งข้อที่ควรมีอันดับแรก คือ ทำความเข้าใจ และกำหนดปัญหา โดยใช้คนเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ควรลองเปลี่ยนวิธีการตั้งคำถาม เพราะจะนำไปสู่วิธีการหาคำตอบ/แก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น สุดท้ายคือการเปลี่ยนบทบาท กทม.เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้แก่ทุกภาคส่วน ซึ่งส่งผลให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือมากขึ้น
2. การสร้างความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม 3. การเปิดพื้นที่เพื่อทดลอง เปิดให้นำความคิดสร้างสรรค์เข้ามาปรับใช้กับเมือง และ 4. การเรียนรู้ ปรับปรุง ขยายผล จากกิจกรรมต้นแบบสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เช่น ดนตรีในสวน ทำให้เกิดการเสนองบประมาณปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในสวนสาธารณะ และการปลดล็อกสวนสาธารณะเพื่อการเล่นดนตรี เพื่อนันทนาการ กรุงเทพกลางแปลง ทำให้เกิดคณะทำงานสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ BKK เรนเจอร์ ทำให้เกิดคณะทำงานสภาเมืองคนรุ่นใหม่ และเกิดการเพิ่มกิจกรรมในศูนย์เยาวชน งานดิวาลี ทำให้เกิดคณะทำงานพัฒนาย่าน Little India และ Hack BKK ทำให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการแก้ปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยี เช่น แพลตฟอร์มจองพื้นที่สาธารณะ และ Live Chat Agent สำหรับคนพิการ เป็นต้น
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากถามว่าทำไมต้องปรับเปลี่ยนตนเองมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก นั่นก็เพราะหลาย ๆ งานที่เกี่ยวกับเมืองล้วนเกี่ยวข้องกับ กทม. แม้เราไม่ใช่หน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ เราต้องเป็นผู้ประสานงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ถ้าวันนี้เราไม่ทำ ไม่พยายามแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ปัญหาทุกอย่างเหล่านั้นก็จะกองอยู่หน้าบ้านของเราเอง สุดท้ายพอปัญหาสะสมมากขึ้นงานเราก็จะหนักขึ้นและแก้ไขได้ยาก
ช่วงสุดท้าย รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึงทักษะการสื่อสารและทักษะการประสานงานว่า ทักษะการสื่อสารและทักษะการประสานงานนั้นเป็นศิลปะ ส่วนสิ่งที่อยู่ภายใต้ทักษะการสื่อสารและทักษะการประสานงานคือข้อมูล ฉะนั้น ข้อมูล คือสิ่งที่ต้องมีเป็นอันดับแรก
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า ในการทำงานแก้ปัญหาเมือง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประสานข้อมูลกันและต้องสามารถเห็นงานซึ่งกันและกัน เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหา โดยการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะต้องทราบถึงข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน จึงจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุด
สำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพมหานคร ได้มีการแบ่งกลุ่มภารกิจสำคัญออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ นักจัดการเมือง นักจัดการคุณภาพชีวิตเมือง นักจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง นักจัดการความปลอดภัยเมือง และวิศวกรเมือง โดยมุ่งให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีศักยภาพและความรู้แบบ hybrid คือ มีความรู้ความสามารถนอกเหนือจากภารกิจงานที่ทำปัจจุบัน สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง เข้าใจงานที่หลากหลายของเขต เพื่อพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากปัญหาและงานจริง (Problem and project based) โดนมีกำหนดการอบรมรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 ก.พ. - 3 มี.ค. 66 มีผู้อบรมจาก 4 สำนักงานเขตนำร่อง ได้แก่ คลองเตย บางเขน ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีการประเมินผลเพื่อพัฒนาให้เหมาะสมและขยายผลต่อไป