In News

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบ 2เรื่องยุทธศาสตร์ปี66-70/ทบทวนพรบ.



กรุงเทพฯ-คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 ปี 66-70 นายกฯ กำชับจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงาน ให้สอดคล้องสถานการณ์พัฒนาประเทศแบบพุ่งเป้าได้อย่างแท้จริง

วันนี้ (8 ก.พ. 66) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติ ขณะนี้ได้เดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ ปี 2566-2570 โดยหลายเรื่องที่ดำเนินงานมา มีความก้าวหน้าสำเร็จส่วนหนึ่ง ขณะที่บางส่วนยังช้าอยู่ และบางส่วนยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งต้องมีการแก้ไขปรับปรุงในช่วงระยะที่ 2 ให้ดีมากยิ่งขึ้นเพื่อการสานต่องานให้ไปได้ด้วยดี โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการฯ ทุกคน เหล่าทัพ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อทำให้ประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมกับย้ำว่า ต้องมีบรรทัดฐานในการเดินหน้าทำงานเป็นหลัก เป็นการทำเพื่ออนาคต วางพื้นฐานในทุกมิติ เดินหน้าทำงานในเวลาที่มีอยู่จำกัด เพื่อเตรียมส่งต่องานให้กับรัฐบาลหน้าต่อไป 

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีมติเห็นชอบ 2 เรื่อง และมีมติรับทราบ 3 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้

1. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 (ปี 2566-2570)
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติตามหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan Do Check Act : PDCA) โดยมอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สำนักงานฯ) นำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานดำเนินการต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางอย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของการวางแผน (Plan) หน่วยงานของรัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกระดับ พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ภาคีการพัฒนาและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรที่มีเนื้อหาเป็นปัจจุบันกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงบประมาณและหน่วยงานกำกับแผนงานบูรณาการหรืองานวิจัย ต้องจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศแบบพุ่งเป้า หน่วยงานเจ้าภาพแผนแม่บทฯ ประสานและบูรณาการและกำกับให้หน่วยงานดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนระดับที่ 2 การปฏิบัติ (Do) ในส่วนของแผนระดับที่ 3 ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาทบทวนกฎหมายที่มีการกำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อให้มีแผนเท่าที่จำเป็นต่อบริบทของการพัฒนาประเทศ สำนักงานฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวิเคราะห์หาช่องว่างประเด็นการพัฒนาที่จำเป็นต้องมีแผน หน่วยงานเจ้าภาพทุกระดับและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน ดำเนินการอย่างพุ่งเป้า ในส่วนของโครงการ หน่วยงานเจ้าภาพทุกระดับและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน ดำเนินการอย่างพุ่งเป้า สำนักงบประมาณ พิจารณาการจัดสรรงบประมาณโดยพุ่งเป้าไปยังเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยที่มีสถานะการบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤต (สีแดง) และปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญประจำปีงบประมาณ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Check) สำนักนายกรัฐมนตรีเร่งประสานบูรณาการการดำเนินการให้กระทรวงกำกับผู้ตรวจราชการกระทรวง/กรม ปฏิบัติตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 อย่างเคร่งครัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงต้องจัดทำแผนการตรวจราชการที่เป็นเจ้าภาพหลัก ตามภารกิจของหน่วยงาน คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ต้องเร่งกำหนดประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลประจำปี โดยต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่มีสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤติ (สีแดง) และ/หรือ มีระดับวิกฤติต่อเนื่อง และ/หรือ เป้าที่ได้รับการประเมินสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤติ และการปรับปรุงการทำงาน (Act) หน่วยงานของรัฐใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบการปรับปรุงการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของ PDCA บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อให้เกิดการพุ่งเป้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องกระบวนการงบประมาณ ที่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศแบบพุ่งเป้าได้อย่างแท้จริง  

2. เห็นชอบการดำเนินการทบทวนพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยให้สำนักงานฯ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานฯ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบกลาง (www.law.go.th.) และวิธีการอื่น ๆ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการมีมติรับทราบ 3 เรื่อง ดังนี้
1. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยรายงานประจำปี 2565 เป็นรายงานฉบับที่ 4 โดยภาพรวมของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในห้วง 5 ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์พัฒนาปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีบางประเด็นที่ต้องเร่งพัฒนาต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่มีเป้าหมายการพัฒนาอยู่ในระดับวิกฤติ โดยการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ผ่านมามีประเด็นท้าทายที่สำคัญ อาทิ ความเข้าใจของหน่วยงานของรัฐในหลักการและวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ทำให้ยังขาดความบูรณาการ ความเข้าใจของการดำเนินงานที่ควรต้องมุ่งเน้นการบรรลุผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของ “เป้าหมาย” ส่งผลให้หลายหน่วยงานยังดำเนินงานเพื่อตอบ “ตัวชี้วัด” บางหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้นำเข้าแผนระดับที่ 3 โดยเฉพาะแผนปฏิบัติ และโครงการ/การดำเนินงานในระบบ eMENSCR รวมถึงข้อมูลสถิติ งานวิจัยต่าง ๆ ในระบบ OpenD ส่งผลให้กลไกติดตาม ตรวจสอบ และประเมินขาดข้อมูลประกอบการติดตามและตรวจสอบที่ครอบคลุม ทั้งนี้ สำนักงานฯ เผยแพร่รายงานฯ แล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566  ผ่านทางเว็บไซต์ http://nscr.nesdc.go.th/nscr_report/ สำหรับ (ร่าง) รายงานผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 นั้น สำนักงานฯ จะนำเสนอที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามขั้นตอนต่อไป เนื่องจากเป็นรายงานประจำปีฉบับสุดท้าย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ให้สำนักงานฯ จัดทำรายงานฯ หลังสิ้นสุดแผนการปฏิรูปประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานของรัฐทำความเข้าใจกับประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติตามหลัก PDCA อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกระบวนการจัดสรรงบประมาณที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศ รวมทั้งศึกษาและทำความเข้าใจกับ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2566 - 2580 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และเอกสารประกอบการดำเนินการตาม (ร่าง) แผนแม่บทฯ ที่สำนักงานฯ ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://nscr.nesdc.go.th/ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำงานร่วมกัน ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายให้บรรลุในห้วง 5 ปีที่ 2 ตามที่กำหนดไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

2. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ที่คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ในคราวการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติเห็นชอบการดำเนินงานตาม 4 แนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน (คนที่ตกเกณฑ์ MPI) ทั้งที่เป็นคนที่มีบัตรสวัสดิการและไม่มีบัตรสวัสดิการ รวมจำนวน 655,365 คน (2) กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้ข้อมูลจากบูรณาการฐานข้อมูลที่หลากหลาย จำนวน11,023,225 ครัวเรือน 33,384,526 คน (3) กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม จำนวน 13,220,965 คน และ (4) กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ TPMAP (Exclusion error) กลุ่มคนที่ไม่ได้มีข้อมูลจัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งของระบบ TPMAP ทั้งในฐานของการบูรณาการฐานข้อมูลหรือข้อมูลในระดับพื้นที่ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่เป็นคนเร่ร่อน กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มคนไทยที่ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งต้องสืบค้นต่อไป โดย คจพ. ได้มอบหมายให้ ศจพ. ทุกระดับ และทีมปฏิบัติการฯ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ เร่งดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อแก้ปัญหากลุ่มเป้าหมายของ พ.ศ. 2566 อย่างบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินการแบบพุ่งเป้า เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของการพัฒนาให้ “อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน” ต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการแก้ไขปัญหาและพัฒนาได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

3. รับทราบแนวทางการเตรียมการทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 มีมติรับทราบมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 ในส่วนของแนวทางการดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดของแผนปฏิรูปประเทศ โดยให้สำนักงานฯ และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันพิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ป.ย.ป. โดยมีแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546  ให้สำนักงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ เตรียมการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอข้อมูลการเตรียมการทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2566 ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 ต่อไป