In Bangkok

กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังดูแล รักษาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ



กรุงเทพฯ-สำนักอนามัย กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ เผยในพื้นที่กรุงเทพฯ เดือน ม.ค.66 (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.พ.66) พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 5,447 ราย อัตราป่วย 9.9 ต่อประชากรแสนคน พบผู้เสียชีวิต 1 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 0 - 4 ปี (ร้อยละ 15.2) 5 - 9 ปี (ร้อยละ 12.6) และ 25 - 29 ปี (ร้อยละ 11.2)

 นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในสถานพยาบาลสังกัด กทม.ว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ เดือน ม.ค.66 (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.พ.66) พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 5,447 ราย อัตราป่วย 9.9 ต่อประชากรแสนคน พบผู้เสียชีวิต 1 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 0 - 4 ปี (ร้อยละ 15.2) 5 - 9 ปี (ร้อยละ 12.6) และ 25 - 29 ปี (ร้อยละ 11.2) รายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษส่วนมากเกิดขึ้นในโรงเรียนเด็กเล็ก - ชั้นประถมศึกษา จำนวน 17 - 58 คน/สถานศึกษา และคาดว่า จะมีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมักพบจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงต้นปี ระหว่างเดือน ม.ค. - มี.ค. ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันเกือบทุกปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้ง กระหายน้ำ และอาจมีไข้ สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางอุจจาระและอาเจียน ส่วนใหญ่มักเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มคนที่รับประทานอาหารและน้ำร่วมกัน การช่วยเหลือเบื้องต้นควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ ORS บ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หัวใจเต้นเร็วตัวเย็น ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว

ทั้งนี้ สนอ.มีมาตรการเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ การรณรงค์ส่งเสริมและให้ความรู้คำแนะนำวิธีดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย รวมทั้งการปฏิบัติตน เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ อาทิ การเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดปกติ การล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง เลือกบริโภคอาหารและน้ำที่สะอาด มีเครื่องหมายสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแจ้งสำนักงานเขตให้เฝ้าระวังการเกิดเหตุการณ์อาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงในโรงเรียน พร้อมเน้นย้ำให้สถานศึกษาเคร่งครัดสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ใช้วัตถุดิบในการประกอบปรุงอาหารที่สดใหม่ ผู้ประกอบอาหาร หรือปรุงอาหารหากมีอาการท้องเสียให้งดประกอบอาหาร รวมทั้งให้โรงเรียนประเมินการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน (โรงอาหาร) ให้ได้มาตรฐานของโรงเรียน