In Thailand

วางแผนลดภาวะคลอดก่อนกำหนดหญิง ชาวเพชรบูรณ์ปี2566เหลือ3.35%



เพชรบูรณ์-ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดจังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งที่ 1 ปี 2566 เหลือร้อยละ 3.35

ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์   นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดจังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งที่ 1  โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดจังหวัดเพชรบูรณ์ จาก 7 ภาคีเครือข่าย ตามคำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ 22072566 ลงวันที่่่่่่่ 25 มกราคม 2566 เข้าร่วมประชุม

ด้วยกระทวงมหาดไทย แจ้งว่า คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลในฐานะคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด เพื่อลดอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนดและเชิญปลัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อเสนอแนะและกำหนดทิศทางการทำโครงการ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565 เพื่อขับเคลื่อนและบูรณาการการทำงานร่วมกันในระบบส่งเสริมสุขภาพและดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการการทำงานและเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมขอให้จังหวัดดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

1.รับทราบนโยบายและซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทย 2.ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดระดับจังหวัด

3.ให้จังหวัดดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการ ภารกิจอำนาจหน้าที่ เป้าหมายและการติดตามประเมินผลการดำเนินการ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราคลอดก่อนกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร้อยละ 50 จากอัตราคลอดก่อนกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 อีกร้อยละ 50 จากอัตราคลอดก่อนกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ.2566

4.ให้จังหวัดนำสื่อประชาสัมพันธ์ไปผลิตและเผยแพร่โดยใช้กลไกคณะกรรมการจาก 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน นำสื่อประชาสัมพันธ์ไปเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงอันตรายของการคลอดก่อนกำหนด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนให้สถานศึกษาต่างๆ เฝ้าระวัง ตรวจสอบและสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาในสังกัดทราบถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรรวมถึงการบูรณาการระบบบริการสาธารณสุขของหน่วยงายในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือ ดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์เพื่อลดอัตราคลอดก่อนกำหนด

ทั้งนี้ สถานการณ์หญิงไทยคลอดก่อนกำหนดจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 6.70 มีเป้าหมายเพื่อลดอัตาการคลอดก่อนกำหนดในปีงบประมาณ 2566 ร้อยละ 50 จากอัตราคลอดก่อนกำหนดคือร้อยละ 3.35 ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดระดับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดระดับจังหวัดกำหนดให้มีการประชุมติดตามและประเมินผลทุก 3 เดือน