In News
ขนส่งทางรางเร่งมือขนส่งสินค้าทางราง ชง4พันธกิจเดินหน้าระยะ5ปี(2566-70)
กรุงเทพฯ-กรมการขนส่งทางราง เร่งขับเคลื่อนโครงการเพื่อเพิ่มสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางราง พร้อมรองรับความต้องการของภาคเอกชน เผยที่ประชุมได้เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าทางราง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยมีกรอบการจัดทำแผนทั้งหมด 4 พันธกิจ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าทางราง ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วยนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีฯ และผู้บริหารจากกรมการขนส่งทางราง ร่วมด้วยผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วม การประชุมดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องประชุมมนังคศิลา กรมการขนส่งทางราง และผ่านช่องทางออนไลน์
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ กล่าวในที่ประชุมว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเป้าหมายการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าทางรางขึ้น เพื่อร่วมกันจัดทำแผนและขับเคลื่อนแผนไปสู่ทางปฏิบัติ ในการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยที่ประชุมได้เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าทางราง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยมีกรอบการจัดทำแผนทั้งหมด 4 พันธกิจ ประกอบด้วย
พันธกิจที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) พันธกิจที่ 2 การบริหารจัดการ (Management) พันธกิจที่ 3 การบริหารจัดการความต้องการ (Demand Management) พันธกิจที่ 4 การสนับสนุนกฎข้อบังคับ (Supportive Regulations) รวม 96 โครงการ/กิจกรรม วงเงินรวม 506,459.20 ล้านบาท
โดยภาคเอกชนเสนอว่าในภาคกลางบริเวณแม่น้ำป่าสัก อำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา มีการขนส่งสินค้าเกษตรมาจากภาคอีสานและภาคเหนือเป็นจำนวนมาก แต่เส้นทางรถไฟมาถึงแค่สถานีบ้านภาชี ทำให้เป็น Missing Link ประมาณ 17 กิโลเมตร ที่ควรต่อขยายเส้นทางรถไฟมาให้ถึงบริเวณนี้เพื่อให้สามารถขนสินค้า จากภาคเหนือและอีสานทางรางให้มาเชื่อมต่อกับทางลำน้ำป่าสัก - เจ้าพระยา และออกสู่ทะเล รวมทั้งในทางกลับกันด้วย และให้ภาครัฐเร่งจัดหาหัวรถจักร ให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคเอกชนที่มีความต้องการขนส่งสินค้าทางรางจำนวนมาก
โดยประธานการประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานกลับไปพิจารณาและเสนอความเห็นกลับมายัง ขร. ภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อจัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน