In Thailand
สทช.6บูรณาการMOUบันทึกข้อตกลงลดปริมาณขยะทะเล
พังงา-สทช.6 บูรณาการ MOU ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำมาตรการลดปริมาณขยะทะเลและกิจกรรมจัดเก็บขยะชายฝั่ง ใต้น้ำ สร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมรักษ์สิ่งแวดล้อม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พลเรือตรี กนกพล พิมพ์ทอง ผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมด้วย นายประถม รัสมี ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 นางเฉลิมศรี แพใหญ่ นายกเทศมนตรีตำบลลำแก่น นายเลิศศักดิ์ ป่นกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ตลอดจนส่วนราชการในพื้นที่ตำบลลำแก่น ทหารเรือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และนักดำน้ำอาสาสมัคร จำนวน 400 คน จัดกิจกรรมทำความสะอาดเก็บขยะชายหาด ขยะป่าชายเลน และดำน้ำเก็บเศษอวนในแนวปะการัง บริเวณอุทยานเรียนรู้ใต้น้ำ ต.ลำแก่น อ.ท้ายหมือง จ.พังงา พร้อมร่วมลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำมาตรการลดปริมาณขยะทะเล โดยสามารถเก็บขยะได้จำนวน 1,854 กิโลกรัม ขยะอวนปู ระยะทาง 500 เมตร จากการคัดแยกขยะ พบเศษอวนในแนวปะการังเทียม ขวดพลาสติก ขวดแก้ว โฟม และขยะอินทรีย์ กิจกรรมในครั้งนี้แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
นายประถม กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ขยะทะเล เป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญระดับโลก และเป็นวิกฤติข้ามพรมแดน เนื่องจาก ขยะทะเล ลอยตามกระแสน้ำ ข้ามประเทศข้ามทวีป ซึ่งหลายประเทศ เริ่มตระหนักและหามาตรการ เพื่อลดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน ประเด็นปัญหาขยะทะเล ที่นอกเหนือจากมิติสิ่งแวดล้อม ยังมีมิติทางสังคมร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความพยายามแก้ไขปัญหาขยะทะเลของประเทศไทย ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ทาง สำนักงานทรัพยากรทาง
ทะเลและชายฝั่งที่ 6 ดำเนินโครงการจัดทำมาตรการลดปริมาณขยะทะเล เพื่อปรับปรุง รูปแบบ กลไก วิธีการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ติดตามการจัดการขยะทะเล โดยเน้นดำเนินการในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาขยะทะเล การดำเนินการในวันนี้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ได้คัดเลือกพื้นที่ ท้องที่ตำบลลำแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง ติดบริเวณปากแม่น้ำ ได้รับผลกระทบ
จากขยะ ขยะมาจากทุกทิศทาง จึงเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาขยะทะเล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ และการรับรู้ให้กับชุมชนเป้าหมาย ผู้นำชุมชน และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อบูรณาการ การจัดการขยะ โดยการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายภาคีความ
ร่วมมือ และสนับสนุนการสร้างความร่วมมือด้านบุคลากร ข้อมูล และการประสานงาน ร่วมกัน ส่งต่อข้อมูลปริมาณขยะให้กับส่วนที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงรูปแบบ กลไกวิธีการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นระบบ