In Bangkok
หลักสูตรปนป.ร่วมกทม.จัดทำแผนที่ดูแล กลุ่มเปราะบางชุมชนชูฐานOne Map

กรุงเทพฯ-(10 ก.พ.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมชุมชนคลองลัดภาชี ชุมชนวัดจันทร์ประดิษฐารามเขต 3 ชุมชนศิรินทร์และเพื่อน เขตภาษีเจริญ และร่วมชมการออกแบบระบบบริการสาธารณสุขเส้นเลือดฝอยในพื้นที่นำร่องว่า วันนี้เป็นการดำเนินงานจากนโยบายโรงพยาบาล 10,000 เตียง ซึ่งให้ความหมายในท้ายที่สุดว่าประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน หมายความว่าเตียงแต่ละบ้านสามารถใช้ในการดูแลผู้ป่วยหรือคนที่ต้องการดูแลได้ จะทำให้คนได้รับการดูแลจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการเชื่อมกันระหว่างบ้าน ชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชน ผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น ที่สามารถส่งต่อผลการรักษาไปยังโรงพยาบาลซึ่งเป็นแม่ข่ายได้ ทำให้เขาดูแลกันเองได้ไม่ต้องลำบากในการเดินทาง
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้ทำ Sandbox ทำให้ทราบว่าอะไรที่หายไป ประกอบกับสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตร ปนป. ได้ประสาน กทม. ว่ามีโจทย์อะไรบ้าง ก็ได้แจ้งว่า การดูแลสุขภาพคนเมืองในพื้นที่กว้างและซับซ้อน อยากให้การดูแลเบ็ดเสร็จถึงบ้าน เราต้องการแผนที่ที่จะบอกเราได้ว่าบ้านอยู่ตรงไหน มีผู้ป่วยแต่ละลักษณะอยู่บ้านหลังไหน โดยคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคลมากที่สุด ทางทีมสถาบันพระปกเกล้าได้ประสานความร่วมมือกับชุมชน สำนักงานเขตภาษีเจริญ ศูนย์บริการสาธารณสุข 47 และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลแผนที่ภูมิสังคม ที่ระบุบ้านที่มีผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ครอบครัวที่มีความเปราะบาง และอีกอย่างที่อยากเพิ่มเข้าไปคือ จุดติดตั้งถังดับเพลิง ซึ่งข้อมูลแผนที่นี้จะทำให้อาสาสมัคร และประธานชุมชนสามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องทำต่อคือ ทำอย่างไรที่จะนำข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้ามาสวมกับฐานข้อมูลเดิมที่กทม. มีอยู่ เพื่อรวมเป็นข้อมูลเดียวกัน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งการรวมข้อมูลดังกล่าวจะเชื่อมเข้ากับนโยบาย Bangkok Risk Map ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะทำให้กทม. มี One Map ต่อไป ต้องขอชื่นชมสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตร ปนป. ที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่รวดเร็วและเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น
สำหรับชุมชนคลองลัดภาชี ชุมชนวัดจันทร์ประดิษฐารามเขต 3 และชุมชนศิรินทร์และเพื่อน เป็นชุมชนในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ในโครงการ Sandbox ราชพิพัฒน์ Model เสริมสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง เข้าถึงง่าย กิจกรรมในวันนี้ มีการออกหน่วยเคลื่อนที่เชิงรุกผ่านรถตรวจสุขภาพเชิงรุก (Commulance) เพื่อให้บริการคนในชุมชน ประกอบด้วย ตรวจสุขภาพพื้นฐาน ตรวจจอประสาทตาสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ตรวจเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่ คัดกรองผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจาก PM 2.5 ให้คำปรึกษาด้านสิทธิการรักษาและออกบัตรผู้พิการ รวมถึงการแนะนำเทคโนโลยีทางด้านบริการสุขภาพลงให้พื้นที่ชุมชน ไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ถึงโรงพยาบาล สามารถพบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine ได้ที่บ้าน สำหรับผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ Sandbox ราชพิพัฒน์ Model สามารถสอบถามปัญหาสุขภาพ เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพียง Add line @1rpp
กิจกรรมวันนี้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ผู้บริหารเขตภาษีเจริญ ศูนย์บริการสาธารณสุข 47 คลองขวาง สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ ณ ลานกิจกรรมชุมชน ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ