In News

ขร.เผยยอดผู้โดยสารรถไฟและรถไฟฟ้า นิวไฮทะลุ1.577ล้านคน



กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงยอดผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งทางราง เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา พบว่าสูงถึง 1.577 ล้านคน ถือเป็นนิวไฮ  (New High) ของการใช้บริการระบบขนส่งทางรางที่มากที่สุด นับตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ผลจากงานเกษตรแฟร์  ส่งผลภาพรวมสูงสุด 1,577,330 คน/เที่ยว โดยจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบ แบ่งออกเป็น

1. รถไฟ จำนวน 73,659 คน (เชิงพาณิชย์ 24,171 คน/เที่ยว เชิงสังคม 49,488 คน/เที่ยว)
2. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 72,737 คน
3. รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) จำนวน 29,129 คน
4. รถไฟฟ้า MRT สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) และสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) รวมจำนวน 479,056 คน/เที่ยว (สายสีน้ำเงิน 429,825 คน/เที่ยว และสายสีม่วง 49,231 คน/เที่ยว)
5. รถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียว และสีทอง) รวมจำนวน 922,749 คน (สายสีเขียว 916,390 คน/เที่ยว และสายสีทอง 6,359 คน/เที่ยว)

จากสถิติของการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสุขุมวิท) โดยเฉพาะสถานี ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 - 10 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีการจัดงานเกษตรแฟร์ จะเห็นว่าจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า ณ สถานีนี้ เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยยอดรวมผู้ใช้บริการที่ สถานี ม.เกษตรศาสตร์ รวม 676,571 คน และสายสีแดงที่สถานีบางเขน ระหว่างวันที่ 3 - 10 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 19,957 คน/เที่ยว ซึ่งแสดงให้เห็น มีผู้ใช้บริการว่าการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางถือว่าได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเดินทางที่รวดเร็ว และสะดวก ลดการจราจรติดขัดในการเดินทางมาร่วมงานเกษตรแฟร์  สำหรับวันนี้เป็นวันสุดท้ายของงานเกษตรแฟร์  ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ประสานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเตรียมความพร้อมรองรับการบริหารจัดการผู้โดยสารที่สถานีกรณีมีผู้โดยสารหนาแน่น  เช่น สถานี ม.เกษตรศาสตร์ สถานีบางเขน สถานีห้าแยกลาดพร้าว เป็นต้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมเพิ่มความถี่ขบวนรถในชั่วโมงที่มีผู้โดยสารหนาแน่น

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันภายหลังผ่อนคลายมาตรการ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ในปี 2566 (1 มกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน) กับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในปี 2562 (1 มกราคม - 31 มีนาคม 2562) พบว่า ภาพรวมปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันของปี 2566 สูงกว่าปี 2562 ประมาณ 3%

จากยอดผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางที่ทะลุนิวไฮในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ถือเป็นการบันทึกสถิติใหม่ของการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟฟ้าสายสีแดง นับตั้งแต่เปิดให้บริการมา ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส เคยมีผู้โดยสารสูงสุด 1.13 ล้านคน/เที่ยว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 คาดว่าอาจจะมาจากการที่รัฐบาลคลายล็อกมาตรการการเดินทางทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ ส่งผลให้ประชาชนเดินทางออกจากบ้านกันมากขึ้น และการที่ประชาชนเลือกใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน และเล็งเห็นว่าระบบขนส่งทางรางสะดวก รวดเร็ว และเดินทางได้ถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย จึงหันมาใช้บริการกันจำนวนมากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของ ขร. ได้กำชับผู้ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบ เตรียมความพร้อมในการให้บริการอยู่เสมอ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มความถี่ การบริหารจัดการความหนาแน่นภายในขบวนรถไม่ให้เกินมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร และลดความแออัด ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการในระบบขนส่งทางรางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย