In News

นายกฯย้ำเฝ้าดูสภาวะเศรษฐกิจไทย-โลก พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง



กรุงเทพฯ-​โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ย้ำหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยและโลกทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ปรับการปฏิบัติให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยล่าสุด ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน โดย (1) ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นปีละ 3.5 ล้านคน จากประมาณการ ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 มาอยู่ที่ 25.5 และ 34 ล้านคน ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ และ (2) การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก (ประมาณ 18.4 ล้านคน หรือร้อยละ 67 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งหมดในปี 2565) ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2566 แต่จะฟื้นตัวในปี 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ สอดคล้องกับข้อมูลจริงในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ที่ต่ำกว่าคาดตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในหมวด hard disk drive ที่ลดลงต่อเนื่อง ตามการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไปสู่ solid state drive อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปีหน้าตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลงจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหากการระบาดของ COVID-19 ในจีนและข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศคลี่คลายได้เร็ว 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยนั้น มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง สะท้อนจากสัดส่วนสินค้าที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้ลดลงตลอดช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนจะทยอยปรับลดลง โดยการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ได้กระจายตัวหรือเร่งขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จาก (1) การส่งผ่านต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง รวมถึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนอาจปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้าจากการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกอาจปรับสูงขึ้นในกรณีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็ว และ (2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวรวมถึงราคาในหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้นได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น

“อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีทิศทางแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนได้รับผลดีต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยและโลกในทุกมิติอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด รวมทั้งบริบทอื่น ๆ ที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ และปรับนโยบายและการปฏิบัติให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันให้มีการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานในภาคบริการเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการของไทย รวมไปถึงการติดตามการฟื้นตัวของรายได้และฐานะการเงินของกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อย ซึ่งพบว่ายังมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง และต้องเผชิญต้นทุนและค่าครองชีพสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรายได้ของแรงงานบางกลุ่ม เช่น แรงงานภาคการผลิตที่เกี่ยวกับการส่งออก จะถูกกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าในปีนี้ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแต่ละกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้อย่างตรงจุด” นายอนุชา กล่าว