In News
'วันวาเลนไทน์'แนะคู่รักใช้ถุงยางอนามัย รัฐฯชี้มีความรักที่ปลอดภัยไม่ตกเป็นเหยื่อ
กรุงเทพฯ-รัฐบาลส่งความห่วงใย วาเลนไทน์นี้มีความรักที่ปลอดภัยไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์ คู่รักใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
วันที่ 13 ก.พ. 66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 14 ก.พ. ของทุกปีเป็นวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก เป็นวาระสำคัญที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยจะส่งมอบความรักและความปรารถดีแก่กัน แต่เนื่องจากปัจจุบันได้มีภัยในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะมิจฉาชีพที่แอบแฝงในโลกออนไลน์ซึ่งจำนวนมากใช้ความรักหรือความอ่อนไหวของเป้าหมายหลอกลวงทั้งประสงค์ต่อทรัพย์และอาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย รัฐบาลจึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังภัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงวันแห่งความรักนี้
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงสถิติอาชญากรรมออนไลน์ประจำเดือน ม.ค. 66 จากศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ พบว่ามีคดีเกี่ยวกับการหลอกให้รักยังสูงถึง 403 คดี โดยแบ่งเป็นคดีประเภทหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน จำนวน 168 เรื่อง และคดีหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน จำนวน 235 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 190 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภัยออนไลน์เกี่ยวกับความรักหรือ Romance Scams จะเป็นการใช้เทคนิคทางจิตวิทยาพัฒนาความสัมพันธ์กับเป้าหมายสร้างความเชื่อใจระหว่างบุคคล แล้วทำการหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมท ควบคุมสมาร์ทโฟนและทำการดูดเงินในบัญชี หรือหลอกให้รักแล้วแบล็คเมล์ ด้วยการชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านทางออนไลน์ แล้วนำภาพหรือวิดีโอมาขู่เรียกค่าไถ่ หรือบีบบังคับให้กระทำการอื่นๆ
ทั้งนี้ หากประชาชนมีความสงสัยหรือกำลังเกรงว่าตนเองอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 หากเป็นผู้เสียหายประสงค์จะแจ้งความ สามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงต่างๆที่ pctpr.police.go.th
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในเทศกาลวันแห่งความรักยังเป็นโอกาสที่คู่รักใช้เป็นช่วงเวลาในการแสดงออกถึงความรักในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ในส่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีข้อแนะนำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคที่มาจากเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเอชไอวี หรือโรคอื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง และโรคเริม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โรคต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีข้อแนะนำว่าถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งรายการละเอียดในการผลิตหรือนำเข้า ดังนั้น ขณะเลือกซื้อประชาชนควรเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์หรือใบรับแจ้งรายการละเอียด ซึ่งรับรองจาก อย. สังเกตดูวันที่ผลิต วันหมดอายุก่อนซื้อ และมีการใช้ตามคู่มือแนะนำของผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพและให้ถุงยางอนามัยคงประสิทธิภาพสูงสุด