In News
อนุมัติหลักการร่างพรบ.ปฏิรูปสถาบันวว. เปิดกว้างให้แข่งขันเชิงธุรกิจกับเอกชนได้
กรุงเทพฯ-ครม.อนุมัติหลักการร่างพรบ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถให้งานวิทยาศาสตร์ฯ การแข่งขันและการลงทุน ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้านเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรม
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ เพื่อปรับปรุงให้การดำเนินภารกิจของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการต่อยอดงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เกิดความคล่องตัว และส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 สรุปได้ดังนี้
1. ด้านวัตถุประสงค์ มีการเพิ่มเติม 2 ข้อ คือ
1.1 ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม
1.2 ดำเนินการและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ตลอดจนการลงทุน ร่วมลงทุนกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อนำผลงานการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปประกอบกิจการให้เกิดรายได้ในเชิงพาณิชย์
2. ด้านอำนาจหน้าที่ มีการเพิ่มเติม 5 ข้อ คือ
2.1 การขาย จ้าง รับจ้าง อนุญาต จำหน่าย หรือทำนิติกรรมใดๆ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของสถาบันวิจัยฯ ตลอดจนมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งแก้ไขเกี่ยวกับกรณีการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
2.2 การรับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ดอกผลของเงิน ค่าสิทธิประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา รายได้และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดที่ได้จากการดำเนินกิจการภายในอำนาจหน้าที่ของสถาบันวิจัยฯ
2.3 การถือหุ้น การเข้าเป็นหุ้นส่วน และการร่วมลงทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบันวิจัยฯ รวมทั้งแก้ไขเกี่ยวกับการกู้/ให้กู้ยืมเงิน การถือหุ้น การเข้าเป็นหุ้นส่วน การลงทุน หรือการร่วมลงทุน จำนวนเงินเกินคราวละ 20 ล้านบาทต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
2.4 การออกพันธบัตรหรือตราสาร เพื่อใช้ในการดำเนินการในกิจการของสถาบันวิจัยฯ โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
2.5 การจัดตั้งหรือร่วมจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อนำผลงานการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประกอบกิจการใช้ให้เกิดรายได้ในเชิงพาณิชย์และเพิ่มแหล่งรายได้ของสถาบันวิจัยฯ เกี่ยวกับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ดอกผลของเงิน ค่าสิทธิประโยชน์ รายได้และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่สถาบันวิจัยฯ ได้รับ
“ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้รับฟังความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 บัญญัติไว้ผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย เว็บไซต์ของสถาบันวิจัยฯ และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ภายในสถาบันวิจัยฯ แล้ว และ ครม. รับทราบที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองฯ ที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. นี้ โดยประกอบด้วย ข้อบังคับสถาบันวิจัยฯ 4 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการลงทุน หรือร่วมลงทุนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องต่างๆ และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ครม. มีความเห็นให้สถาบันวิจัยฯ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นไปตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570” น.ส.ทิพานัน กล่าว