EDU Research & ESG

วิ.การจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล 'feat.' เปิดหลักสูตรนักดนตรีรุ่นใหม่ให้ครีเอท



กรุงเทพฯ 14 กุมภาพันธ์ 2566 – วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ผนึกกำลังวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปั้น “นักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม” ด้วยโครงการปริญญาตรีควบปริญญาโท หรือหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Music Entrepreneurship and Innovation: MEI) หวังตอบโจทย์อุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่ระดับสากล สร้างสกิลแบบมัลติทาส์กกิ้ง หนุน 3 ทักษะ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน บูรณาการความรู้ทั้งในศาสตร์ด้านดนตรี ศิลปะบันเทิงแขนงต่างๆ กับศาสตร์ด้านการบริหารจัดการและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รับกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จบตรีควบโทภายใน 4 ปีครึ่ง

image.png

กรุงเทพฯ 14 กุมภาพันธ์ 2566 – วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ผนึกกำลังวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปั้น “นักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม” ด้วยโครงการปริญญาตรีควบปริญญาโท หรือหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Music Entrepreneurship and Innovation: MEI) หวังตอบโจทย์อุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่ระดับสากล สร้างสกิลแบบมัลติทาส์กกิ้ง หนุน 3 ทักษะ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน บูรณาการความรู้ทั้งในศาสตร์ด้านดนตรี ศิลปะบันเทิงแขนงต่างๆ กับศาสตร์ด้านการบริหารจัดการและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รับกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จบตรีควบโทภายใน 4 ปีครึ่ง

รศ. ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อุตสาหกรรมดนตรีในไทยเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจับตามอง มีค่ายเพลงใหม่ที่ผลิตนักดนตรีและศิลปินหน้าใหม่พร้อมผลงานคุณภาพสุดสร้างสรรค์ให้ได้รับชมกันต่อเนื่อง จนทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมดนตรีมีแนวโน้มเติบโตขึ้น และจะยิ่งมากขึ้นหลังช่วงโควิด-19 จากการพิจารณาเทียบข้อมูลเมื่อปี 2561 โดย Creative Economy Agency ระบุว่า อุตสาหกรรมดนตรีของไทยมีมูลค่าสูงถึง 1,478 ล้านบาท และยังสะท้อนอีกว่าอุตสาหกรรมนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ มีช่องทางให้เติบโต นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาสู่การส่งออกผลงานสร้างสรรค์ของเด็กไทยในโลกดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการสตรีมมิง ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้ง และเด็กไทยสามารถปล่อยของ โชว์ผลงานสู่สายตาชาวโลกได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกำลังหลักสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรี อย่างไรก็ตาม เด็กที่เชี่ยวชาญทักษะดนตรีส่วนใหญ่ ได้เริ่มมองหาวิธีการพัฒนาทักษะด้านการบริหารที่เป็นทักษะสำคัญในยุคปัจจุบัน CMMU จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างบัณฑิตแบบบูรณาการทั้ง 2 ศาสตร์ เพื่อตอบรับความต้องการแบบมัลติทาส์กกิ้งในตลาดแรงงาน จึงจับมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนา“โครงการปริญญาตรีควบปริญญาโท หรือหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Music Entrepreneurship and Innovation: MEI)

สำหรับโครงการ MEI เป็นหลักสูตร 2 ปริญญาที่สามารถทำให้ผู้เรียนได้ปริญญาตรีทางด้านดนตรีควบคู่กับปริญญาโททางด้านสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม ภายในระยะเวลา 4 ปีครึ่ง โดยมุ่งการปลูกฝังความเป็นนักบริหารและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการบริหารธุรกิจในแขนงของธุรกิจด้านดนตรีหรือธุรกิจด้านศิลปะบันเทิงที่เกี่ยวข้อง ผู้เรียนจะได้เรียนรายวิชาในสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรมตั้งแต่ปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 เป็นต้นไปจนถึงภาคฤดูร้อนในปีที่ 4 บัณฑิตที่จบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาจากหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (กจ.ม.) (Master of Management) สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurship and Innovation) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหลักสูตรดุริยางคศาสตร์บัณฑิต (ดศ.บ.) (Bachelor of Music) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตั้งเป้าในการสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถแบบบูรณาการทั้ง 2 ศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้กันได้

“โครงการ MEI เป็นโครงการความร่วมมือที่บูรณาการศาสตร์ทั้ง 2 ด้านเข้าไว้ด้วยกันเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทั้งทางด้านดนตรี และการบริหารเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีต่อไปในอนาคต โดยเน้นการเรียนการสอนใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. ความคิดสร้างสรรค์ด้านวิชานวัตกรรมต่างๆ ทั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่มีหลักสูตรด้านดนตรีมีมาตรฐานทัดเทียมสถาบันดนตรีชั้นนำระดับโลก พร้อมพื้นที่ในการพัฒนาทักษะด้านดนตรี และ CMMU ที่มีเทคโนโลยีทางการเรียนการสอนที่ครบครันพร้อมเพื่อช่วยพัฒนานวัตกรรมเชิงธุรกิจ 2. เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจทั่วไป โดย CMMU ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริง เพื่อนำสิ่งที่เรียนไปปรับใช้ในการทำธุรกิจได้ และ 3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ผู้มีวิสัยทัศน์พัฒนาเด็กไทยสู่ดาวเด่นในโลกธุรกิจ สำหรับผู้สมัครเข้าเรียนในโครงการ MEI ต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลาย และมีความสนใจทางด้านดนตรีและด้านการจัดการธุรกิจ โดยต้องผ่านการออดิชันจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และวิทยาลัยการจัดการ โดยเปิดรับจำนวน 30 คนในแต่ละปีการศึกษา” รศ. ดร.วิชิตา กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการปริญญาตรีควบปริญญาโท หรือหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Music Entrepreneurship and Innovation: MEI) ระหว่าง วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะริเวอร์ซิตี้ เมื่อเร็วๆ นี้

สำหรับผู้สนใจโครงการปริญญาตรีควบปริญญาโท หรือหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Music Entrepreneurship and Innovation: MEI) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.music.mahidol.ac.th/ นอกจากนี้ ผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อ ป.โท-ป.เอก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรภาษาไทย (Thai Programs) และหลักสูตรนานาชาติ (International Programs) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://apply.cm.mahidol.ac.th/web/