In Bangkok

กทม.รับมอบถุงพลาสติกชีวภาพสลายตัว เตรียมนำใช้แยกเศษอาหาร'ไม่เทรวม'



กรุงเทพฯ-กทม.รับมอบถุงพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้ เตรียมนำไปใช้แยกเศษอาหาร “ไม่เทรวม” ประชาชนขอใช้ได้ผ่านทาง Traffy Fondue

(14 ก.พ.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบถุงพลาสติกชีวภาพ จำนวน 40,000 ใบ จากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย โดยนายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมฯ และบริษัทสมาชิก เพื่อสนับสนุนโครงการ "ไม่เทรวม" คัดแยกขยะของกรุงเทพมหานคร โดยมี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมรับมอบ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) เขตพระนคร

“การรับมอบถุงพลาสติกชีวภาพในครั้งนี้ กทม.จะนำไปแจกจ่ายให้กับสำนักงานเขต 3 เขตนำร่องของโครงการไม่เทรวม ได้แก่ พญาไท ปทุมวัน และหนองแขม ซึ่งประชาชนที่ต้องการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพเพื่อแยกขยะเศษอาหารจากบ้านเรือน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ผ่าน Traffy Fondue ของกทม. โดยกทม.จะดำเนินการขยายผลโครงการไม่เทรวมให้ครบ 50 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งต่อไปอาจจะใช้การลดอัตราค่าธรรมเนียมเก็บขยะให้กับประชาชนที่มีการคัดแยกขยะเพื่อสร้างแรงจูงใจต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว 

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย มีสมาชิกสมาคมฯ ประกอบด้วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 60 หน่วยงาน ซึ่งวันนี้ได้นำผู้แทนสมาคมฯ จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัทสมาชิก คือ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท แบ็กส์ แอนด์ โกล์ฟ จำกัด บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอดีบี ไบโอ จำกัด มอบถุงขยะพลาสติกชีวภาพให้ กรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนโครงการ “ไม่เทรวม” โดยถุงพลาสติกชีวภาพนี้ทำมาจากพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพโดยกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ  และไม่เกิดเป็นไมโครพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ความรวดเร็วในการย่อยสลายขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้น อุณหภูมิ จำนวนเชื้อจุลินทรีย์ และรวมถึงชนิดพลาสติกที่นำมาใช้ โดยพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพทำมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทยคือ มันสำปะหลัง และอ้อย มาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ เช่น PLA และ Thermoplastic starch (TPS) ซึ่งจะทำให้เกิดการย่อยสลายในธรรมชาติ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับถุงขยะพลาสติกชีวภาพจัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการขยะอินทรีย์  โดยการใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพในการแยกขยะชีวภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยในปัจจุบันมีปริมาณขยะอินทรีย์ในขยะมูลฝอยเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่ง ซึ่งจะปนเปื้อนสู่ขยะอื่น ๆ ที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เช่น ขยะรีไซเคิล โดยหากแยกขยะอินทรีย์ด้วยถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จะทำให้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการบริหารจัดการขยะประเภทนี้เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ย และลดปริมาณขยะที่จะต้องฝังกลบหรือเผากำจัดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพมาแยกขยะอินทรีย์ จะเป็นการช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดการขยะสูงเกินความจำเป็น