In Bangkok

กทม.อัปเดตแก้ไฟฟ้าดับแล้วกว่า9พันดวง พร้อมส่งกำลังใจถึงทีมUSARช่วยตรุกี



กรุงเทพฯ-กทม.อัปเดตความคืบหน้า แก้ไฟฟ้าดับแล้วกว่า 9 พันดวงทั่วกรุงฯ เดินหน้าต่อเนื่องเรื่องป้องกันทุจริต ผู้ว่าฯ ส่งกำลังใจถึงทีม USAR กำชับหน่วยงานเร่งป้องกันโรคไข้เลือดออก และพัฒนาระบบเก็บภาษี

(14 ก.พ. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ว่า  วันนี้เป็นการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเพื่อติดตามงานในเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย ไฟฟ้าแสงสว่าง ความคืบหน้าศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) แผ่นดินไหวในตุรกี สถานการณ์โรคไข้เลือดออก การพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษี และติดตามเรื่องอื่น ๆ ทั่วไป

สำหรับเรื่องแรก จากระบบ Traffy Fondue นั้น ไฟฟ้าแสงสว่างเป็นเรื่องที่มีคนร้องเรียนเยอะ โดยกทม.สำรวจแล้ว 119,462 ดวง จำนวนไฟที่ดับ 15,409 ดวง แก้ไขไปแล้ว 9,160 ดวง เหลือที่ยังดับอยู่ 6,249 ดวง อยู่ในความดูแลของสำนักการโยธา (สนย.) และสำนักงานเขต โดยเขตจะดำเนินการได้ช้ากว่า สนย. แต่จะเห็นได้ว่าหลายพื้นที่จะสว่างขึ้นมาก เช่น สุขุมวิท

ต่อมาเป็นเรื่องความคืบหน้า ศตท.กทม. ซึ่งเป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการเชิงรุก มีรองปลัดกรุงเทพมหานคร (นายเฉลิมพล โชตินุชิต) สั่งราชการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ มีคณะทำงานหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนและภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 2. ด้านงานโยธา เช่น ใบอนุญาตอาคาร และ 3. ด้านงานเทศกิจ อีกทั้งยังได้มีการเพิ่มช่องทางในการให้เบาะแส มีการหารือถึงมาตรการป้องกันความลับรั่วไหลของผู้แจ้งเบาะแส เพื่อสร้างความมั่นใจ และสร้างความโปร่งใสในองค์กร

อีกเรื่องเป็นเรื่องแผ่นดินไหวในตุรกี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดชุดค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองแห่งชาติ (National Urban Search and Rescue: USAR) เข้าร่วมสนับสนุนปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ สาธารณรัฐตุรกี ระหว่างวันที่ 9 - 19 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 42 ราย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. เข้าร่วมทีมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 10 ราย ได้มีการรายงานภารกิจทุกวัน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปตุรกียังปลอดภัยดี ถือเป็นการไปช่วยเหลือเพื่อนเรา เป็นโอกาสในการเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วย ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ไป ขอให้เดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย

สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องแผ่นดินไหวของกรุงเทพมหานคร มี 2 ส่วนหลัก คือ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) และสำนักการโยธา (สนย.)  โดยความรับผิดชอบของ สปภ. จะเป็นเรื่องการดูแลและความพร้อมในการดำเนินการกรณีฉุกเฉิน  และในส่วนของ สนย. จะดูแลเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้เข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวของประเทศไทย อาทิ กฎกระทรวง ฉบับที่ 49 พ.ศ.2540 ซึ่งอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังไม่ถูกบังคับใช้ กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคาร ในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคาร เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พ.ศ.2555 และกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564  และเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง  ทั้งนี้ อาคารในกรุงเทพมหานครที่เข้าเกณฑ์ต้องออกแบบอาคารต้านแรงแผ่นดินไหว ก่อนปี 2550 มีจำนวน 10,386 อาคาร และอาคารหลังปี 2550 ถึงปัจจุบัน มีจำนวน 3,028 อาคาร

นอกจากนี้ ในที่ประชุมสำนักอนามัยได้รายงานถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ซึ่งจากสถิติในเดือนมกราคม 2566 มีตัวเลขสูงกว่าค่ามัธยฐาน และพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก 1 ราย เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ด้วย ก็อยากฝากให้ประชาชนระมัดระวัง เรื่องสำคัญคือการกำจัดตัวอ่อน ลูกน้ำยุงลาย ได้มอบหมายให้สำนักอนามัยและสำนักงานเขตเร่งลงพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชนในชุมชน รวมถึงดำเนินการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น โดยโรคไข้เลือดออกจะระบาดมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 

อีกทั้งยังมีเรื่องการพัฒนาการเก็บภาษีระบบ BMA TAX ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องความช้าของระบบอยู่ ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงแก้ไขระบบเพื่อรองรับการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น