In Thailand

พัฒนาถอดองค์ความรู้การย้อมผ้าจาก‘ไม้เคี่ยม’และไม้พื้นถิ่น



สุราษฎร์ธานี-พัฒนาชุมชนสุราษฎร์จับมือภาคีการพัฒนาถอดองค์ความรู้การย้อมผ้าจาก “ไม้เคี่ยม” และไม้พื้นถิ่น

วันนี้ (วันอังคาร ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 09.00 น. นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริม นางสาวนัยนา มากแก้วกุล นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ นางสาวสุกัญญา พรหมสกุล นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ นางสาวปัญญพร เพชรศรี นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ และนักการตลาดรุ่นใหม่ ลงพื้นที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมสามัญศึกษาปัญญาทีปวิทยานุสรณ์ วัดบางขยาราม ตำบลบางชนะ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนในกิจกรรมถอดองค์ความรู้สีย้อมผ้าธรรมชาติ จากต้นไม้ประจำจังหวัดและต้นไม้พื้นถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

ทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนและสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้มีการใช้ธรรมชาติที่ได้จากพืชในจังหวัดมาใช้อย่างมีคุณค่า โดยมีพระครู ครูฆราวาส นักเรียนสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมสามัญศึกษาปัญญาทีปวิทยานุสรณ์ ผู้อำนวยการ ครู นักเรียนโรงเรียนวัดชลธาร ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางชนะ นางวรรณา แสงมณี ประธานศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน นายนันทพันธ์ พัฒน์ธนัญธร กลุ่มทอผ้าบ้านทับเที่ยงและคณะ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยทีม Oh2Day มาร่วมถอดองค์ความรู้สีย้อมผ้าธรรมชาติ จากสีที่ได้จากเปลือกต้นเคี่ยม ลูกจาก เปลือกต้นตะบูน และใบส้มเสี้ยว และทดลองย้อมเส้นฝ้าย ผ้ามัสลิน และเสื้อสำเร็จ ซึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีภูมิประเทศทั้งที่ราบสูง ที่ราบชายฝั่งทะเล(ป่าชายเลน) และเป็นเกาะ ทำให้เกิดระบบนิเวศที่หลากหลาย พืชพรรณที่ขึ้นในแต่ละภูมิประเทศก็ต่างกันออกไป ซึ่งการย้อมผ้าสีธรรมชาติ จะเลือกใช้ส่วนของต้นไม้ที่หาได้ภายในจังหวัด ซึ่งเป็นการต่อยอดการใช้ชิ้นส่วนของต้นไม้ได้อย่างยั่งยืน และตอบโจทย์กระแสการสวมใส่ผ้าไทยที่ได้ย้อมจากสีธรรมชาติที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อนโครงการสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และการสืบสานต่อยอดตลอดจนอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าและผลิตผ้าในเทคนิคอื่นๆ ด้วยการรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยที่ผลิตได้ในจังหวัด ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้พร้อมกับการสร้างสรรค์ประโยชน์จากต้นไม้ประจำจังหวัดอีกด้วย

โรงเรียนพระปริยัติธรรมสามัญศึกษาปัญญาทีปวิทยานุสรณ์ ยินดีที่จะเป็นศูนย์กลางการบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี องค์การบริหารส่วนตำบลบางชนะ โรงเรียนวัดชลธาร กลุ่มทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าทุกเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ส่วนราชการอื่นๆ และ 7 ภาคีเครือข่าย ที่จะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ของเยาวชน พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชนจากการสร้างสรรค์ประโยชน์จากนำชิ้นส่วนของต้นไม้ประจำจังหวัดและต้นไม้ในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

ภาพ/ข่าว นางสาวนัยนา มากแก้วกุล นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี