In Thailand
แนะนำผลิตภัณฑ์ U2T for BCG สู่ตลาดผู้บริโภค
อุดรธานี-อว.ปักธงอุดรฯ ศรีสะเกษ สุรินทร์ขยายโอกาสสินค้าชุมชนเร่งเครื่องส่งเสริมการตลาด-แนะนำผลิตภัณฑ์ U2T for BCG สู่ตลาดผู้บริโภค
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” มาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ทำงานร่วมกับชุมชน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับคำปรึกษาแล้วกว่า 15,000 ชนิด เพื่อขับเคลื่อน U2T for BCG ให้มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายทาง กระทรวง อว.จึงเร่งเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อเนื่อง
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สป.อว.)และคณะร่วมเปิด “กิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG” ที่ศาลเจ้าปู่-ย่า อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการจัดแสดงสินค้าออกสู่ตลาดผู้บริโภค เพื่อขยายโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคบริการ
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ มีการทำตลาดและขายสินค้าทั้ง online/offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย อว.จะเป็นผู้พัฒนาระบบ ในการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มต่างๆ
ดร.ดนุช กล่าวต่อว่า ปี 2566 นี้ อว.จะตอกย้ำด้วยโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG หลังจากใช้แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG เข้าไปพัฒนาผลผลิตของพี่น้องประชาชนจนประสบความสำเร็จ เมื่อมีสินค้าแล้วก็ต้องมีการจัดจำหน่าย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงจุด ตรงความต้องการ ซึ่งสิ่งที่ อว.ต้องทำ คือ สร้างความเข้าใจในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับ BCG ซึ่ง อว.ได้ผสานความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ,คลินิกเทคโนโลยี, ผู้ผลิตสินค้าระดับโอทอป(OTOP) และหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา เข้ามาช่วยให้คำปรึกษา และร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ U2T อย่างเต็มที่ ถือเป็นการโชว์สินค้า แชร์เทคโนโลยี และนำไปต่อยอดต่อไปได้
“หากใครสนใจหรือต้องการพัฒนาสินค้าต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน เราพร้อมให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี การตลาด การจัดการ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการจัดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้ด้วย”
ทางด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สป.อว.) กล่าวว่า การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาในพื้นที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการมากมาย ซึ่งเราได้เห็นศักยภาพในแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบลว่ามีศักยภาพมาก ในการนำมาสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนและยกระดับให้เกิดมาตรฐานต่างๆ มากขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้า BCG เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย โครงการ U2T for BCG เข้าไปในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ตระหนักในสิ่งแวดล้อมและยังมีกำลังใจ มีพลังในการขับเคลื่อนท้องถิ่น สร้างรายได้กับชุมชนมากขึ้น
วันที่ 16 ก.พ.นี้ อว.ก็พร้อมจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG ต่อเนื่อง ที่สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ และวันที่ 17 ก.พ.ก็ไปจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG ต่อ ที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการจัดแสดงสินค้า รวมถึงจัดจำหน่ายสินค้า U2T For BCG ออกสู่ตลาดผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
นายกฤษดา จันทร์ดวง / อุดรธานี