In Thailand

รองผู้ว่าฯเข้มงดเผาแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองPM2.5



เพชรบูรณ์-รองผู้ว่าฯ เข้ม งดเผา แก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ ที่อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน หวั่นค่า PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐาน หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย

ที่ศาลาประชาคม บ้านเขาชะโงกเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย พันเอกพศิน แสงคำ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์  นายอำเภอชนแดน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอชนแดน เข้าพบปะประชาชนในพื้นที่ สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือกับประชาชนในการงดเผา เนื่องจากเป็นพื้นที่พบจุดความร้อน Hot Spot จำนวนมาก เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองที่อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน

   

นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้ทราบข้อมูลจากหน่วยเหนือว่าปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองมีปัญหารุนแรงใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีค่า PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ปัจจุบันค่า PM2.5 ยังไม่เกินมาตรฐาน แต่ก็มีค่าที่ไม่ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงมอบหมายให้ กอ.รมน.จังหวัดเพชรบูรณ์ บูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงมาสร้างความรู้ ความเข้าใจ กับประชาชนในการงดเผา โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายสร้างการรับรู้เป็นพื้นที่ ที่พบจุดความร้อน Hot Spot จำนวนมาก ซึ่งในวันนี้เป็น ตำบลบ้านกล้วย อำเภอชนแดน และการลงพื้นที่ครั้งนี้จะมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มาให้องค์ความรู้ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนของประชนในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้นเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

     

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวต่อว่า ประชาชนทุกคนสามารถลดไฟป่าหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ได้ เพียงทุกคนลดต้นตอของการผลิตฝุ่น ก็คือการเผา เช่น การเผาป่า การเผาพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง และตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 16 เมษายน 2566 จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ออกประกาศห้ามมิให้มีการเผาใดๆทั้งสิ้น หากฝ่าฝืนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย

ทั้งนี้การจุดไฟเผาป่าหรือปล่อยไฟลุกลามเข้าไปในป่ามีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 54 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ในกรณีบุคคลใดเผ่าป่าเนื้อที่เกิน 25 ไร่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่น ถึง 1 แสนบาท   และ ตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น ถึง 2 แสน บาท ในกรณีบุคคลใดเผ่าป่าเนื้อที่เกิน 25 ไร่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 2 แสน  ถึง 2 ล้านบาท

เดชา  มลามาตย์/มนสิชา  คล้ายแก้ว