Health & Beauty
สถาบันแบลคมอร์สรับเทรนด์ดูแลสุขภาพ เร่งเพิ่มความรู้การแพทย์สู่เภสัชกร
กรุงเทพฯ-สถาบันแบลคมอร์สพร้อมพัฒนาศักยภาพเพิ่มองค์ความรู้เภสัชกร จัดอบรมหลักสูตร Complementary Medicines Education (CMEd) ให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แบบผสมผสานด้านโภชนเภสัชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ชี้เภสัชกรต้องมีทักษะรอบตัว รับมือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ภญ.ดร.อโนมา เจริญทรัพย์ ผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจเรื่องของการแพทย์แบบผสมผสานมากขึ้น และมองว่าการรักษาโรคไม่ได้จำกัดแค่การใช้ยาเท่านั้น มีการใช้การแพทย์แบบผสมผสานในเชิงป้องกัน หรือเสริมการรักษาจะช่วยลดผลข้างเคียงและเพิ่มประสิทธิภาพของยาได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสถาบันแบลคมอร์ส ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับ Complementary Medicines การแพทย์แบบผสมผสานที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงงานด้านการศึกษาที่จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดให้กับเภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเชื่อว่าเภสัชกรเปรียบสเมือนด่านหน้าที่ผู้บริโภคจะมาปรึกษา ทั้งเรื่องของโรค ยา อาการเจ็บป่วย จึงควรจะมีความรู้เรื่องของการแพทย์แบบผสมผสาน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของวิตามิน เกลือแร่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องสารอาหารอื่นๆ สมุนไพร และการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ร่วมด้วย
สำหรับในประเทศไทย สถาบันแบลคมอร์สได้ เปิดหลักสูตร CMEd (Complementary Medicines Education) มากว่า 3 ปี โดยหลักสูตร CMEd คือ หลักสูตรการศึกษาอย่างเป็นระบบแบบเต็มรูปแบบแรกที่ ให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ผสมผสาน ที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ในเรื่องวิตามิน เกลือแร่ สมุนไพร และสารอาหารอื่นๆ ร่วมกับการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เภสัชกรสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาวิเคราะห์ผู้ป่วยและให้คำปรึกษาในการรักษาเสริมควบคู่กับการใช้ยาหรือการดูแลสุขภาพอื่นๆ โดยหลักสูตรแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ขั้นพื้นฐาน (Bronze level) ขั้นกลาง (Silver level) และขั้นสูง (Gold level) ซึ่งผู้ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้เนื้อหาผ่านทาง online และเข้าอบรมในชั้นเรียน Masterclass ซึ่งเป็นการอบรมรูปแบบพิเศษโดยใช้กรณีศึกษา โดยรวมองค์ความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้ร่วมกับยารักษาโรคมาตรฐาน หรือเสริมสุขภาพอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ ปัจจุบัน CMEd เปิดตัวในหลายประเทศครอบคลุมเกือบทั้งเอเชีย เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เป็นต้น หลักสูตร CMEd ยังได้รับรางวัลระดับสากลหลายรางวัล
ทั้งนี้ เภสัชกรที่เข้าเรียนในระดับ Masterclass สามารถสะสมหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ หรือ CPE ได้ ที่ผ่านมามีเภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมรับการอบรมกว่า 700 คน โดยผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันแบลคมอร์ส ประเทศออสเตรเลีย หนังสือคู่มือเกี่ยวกับการใช้วิตามินต่างๆ ร่วมกับการใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของสถาบันฯ รวมถึงเข็มกลัดติด
เสื้อที่มีสัญลักษณ์ CMEd เพื่อยืนยันให้ผู้บริโภคมั่นใจถึงศักยภาพของเภสัชกรในการให้คำปรึกษา ที่จะอยู่บนพื้นฐานสุขภาพของผู้บริโภคเป็นหลัก
ด้านภญ.สิริภัทร์ บวรศักดิ์อนันต์, Head of Healthcare Commercial บริษัท บู๊ทส์ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามชั้นนำ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งบู๊ทส์เล็งเห็นว่าเภสัชกรประจำร้านมีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษา และจะต้องมีองค์ความรู้รอบด้านที่เกี่ยวกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกคนที่เดินเข้ามาที่ร้าน ดังนั้นบู๊ทส์จึงสนับสนุนให้เภสัชกรประจำร้าน ทั้ง 100% เข้าอบรมหลักสูตร CMEd กับสถาบันแบลคมอร์ส เพราะมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโภชนเภสัชภัณฑ์ (Complementary Medicines) มาอย่างยาวนาน จึงเป็นอีกช่องทางที่จะเพิ่มพูนความรู้ ยกระดับเภสัชกร และสร้างความแตกต่าง รวมถึงความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคที่เข้ารับบริการ
ภก.สรายุทธ เจียรสุขนิตย์ เภสัชกรประจำร้านบู๊ทส์ หนึ่งในผู้เข้าอบรมหลักสูตรนี้ กล่าวว่า การเข้ารับการอบรมหลักสูตร CMEd ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับโภชนเภสัชภัณฑ์มากขึ้น เพราะเภสัชกรที่เรียนจบมากว่า 90% จะเป็นการเรียนเรื่องของตัวยาเป็นหลัก มีการเรียนในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก แต่ในปัจจุบัน
เทรนด์การใช้การแพทย์แบบผสมผสานร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างมาก โดยสังเกตจากผู้ที่มาปรึกษาในร้านต้องการที่จะป้องกันหรือบรรเทาอาการก่อนการเจ็บป่วย ดังนั้นเภสัชกรจึงจำเป็นต้องมีความรู้มากขึ้น ศึกษาองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะโรคบางชนิดหากแนะนำการใช้วิตามินที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อยาที่ใช้ได้ ซึ่งในหลักสูตร CMEd ที่เรียนนั้น จะมีการนำเคสจริงมาให้เภสัชกรได้ศึกษาและเข้าใจการใช้โภชนเภสัชภัณฑ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละรายเปรียบเสมือนได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริงอีกด้วย