Health & Beauty
อย.-อภ.จับมือมูลนิธิกสิกรไทยและภาคี พัฒนาวิจัยพืชเป็นยา'น่านแซนด์บอกซ์'
กรุงเทพฯ-ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับ 6 หน่วยงาน สนับสนุนวิจัยพัฒนา พืชเป็นยาในพื้นที่ป่าโครงการน่านแซนด์บอกซ์ ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชสมุนไพรเพื่อผลิตยาอย่างมีมาตรฐาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับ 6 หน่วยงาน สนับสนุนวิจัยพัฒนา พืชเป็นยาในพื้นที่ป่าโครงการน่านแซนด์บอกซ์ ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชสมุนไพรเพื่อผลิตยาอย่างมีมาตรฐาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยมี องค์การเภสัชกรรมและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นหน่วยงานสนับสนุน
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ ธนาคารกสิกรไทย อาคารราษฎร์บูรณะ กทม. นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฉบับ 6 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนโครงการน่านแซนด์บอกซ์ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช ระหว่างมูลนิธิกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.),บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการร่วมพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช ระหว่างมูลนิธิกสิกรไทย กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืชยา ระหว่างมูลนิธิกสิกรไทยกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.)
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า โครงการน่านแซนด์บอกซ์ เป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียป่าน่านซึ่งเป็นป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งของประเทศ โดยเน้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนให้มีชีวิตที่ดีไปพร้อมกับการฟื้นคืนป่า และมีการสร้างนวัตกรรม นวเกษตร-พฤกษเภสัช ให้เป็นห่วงโซ่มูลค่าใหม่ จากต้นน้ำ คือ พืชยาที่ชาวบ้านปลูกใต้ป่า สู่สินค้า คือ ยาที่พัฒนาจากพืชที่มูลค่าสูงเพียงพอที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้สูงขึ้นอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ซึ่งการพัฒนายาจากพืชให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาดต้องมีความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพ และข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน มีทะเบียนยาถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน นำมาสู่การลงนามความร่วมมือในวันนี้ โดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับใน 3 ฉบับ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ อย. จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำการยกระดับมาตรฐานการวิจัยและผลิต รวมถึงการขึ้นทะเบียนเป็นยาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ อภ.จะให้การแนะนำ สนับสนุนตลอดห่วงโซ่จนถึงการจัดจำหน่าย
“เรื่องสมุนไพรถือเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสมุนไพรพื้นบ้านต้องทำให้ชาวบ้านได้ปลูก และนำมาพัฒนาเป็นภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ ลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือในโครงการนี้ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งให้ คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง : Health for Wealth โดยปัจจุบันเรามีรากฐานที่แข็งแกร่งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งเรื่อง Medical Hub เป็นศูนย์การแพทย์ที่ดูแลชาวต่างชาติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีความหลากหลายและต่างประเทศให้ความสนใจมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้ร่วมกันพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาสมุนไพรได้คุณภาพสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชน” นายแพทย์โอภาสกล่าว