In News
ขบ.ยันครม.เคาะ'บ.สินธนโชติ'ร่วมทุนPPP โครงการศูนย์ขนส่งชายแดนนครพนม
กรุงเทพฯ-กรมการขนส่งทางบก เผยคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และร่างสัญญาร่วมลงทุน (PPP) โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และร่างสัญญาร่วมลงทุน (PPP) โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อสร้างโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางถนน โดยพัฒนาสถานีขนส่งสินค้ารองรับกิจกรรมการขนส่งทั้งการรวบรวมและกระจายสินค้า รวมถึง การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) โดยมี บริษัท สินธนโชติ จำกัด เป็นผู้ที่ผ่านการประเมินสูงสุด ทั้งนี้ เอกชนรายดังกล่าวจะเป็นผู้รับผิดชอบลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ และเครื่องมืออุปกรณ์ และรับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (Operation and Maintenance: O&M) รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ภาครัฐ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ในการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาร่วมลงทุน 30 ปี นับจากปีเปิดให้บริการ มีมูลค่าโครงการทั้งในส่วนที่ภาครัฐและเอกชนลงทุนรวมกว่า 1,361 ล้านบาท โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) และโครงการนำร่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ช่วยรองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม - จีนตอนใต้ ผ่านด่านพรมแดนนครพนมและสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) ถือเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้ากับระบบราง ผ่านแนวการพัฒนารถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่ - นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมและพื้นที่ใกล้เคียง และการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางให้เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินโครงการบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการตามแผนพัฒนาโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนเรียบร้อยแล้ว ขบ. ได้เร่งรัดจัดการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อภาคเอกชนจะได้เตรียม การดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน (PPP) และให้สามารถเปิดให้บริการโครงการได้ตามแผนในปี 2568 ปัจจุบัน ขบ. อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ วงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง 624 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 พร้อมกับการก่อสร้างในส่วนที่ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองกับผู้ผ่านการประเมินสูงสุด และคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือก ก่อนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนภายในปี 2566 และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดจ้างโครงการก่อสร้างระยะที่ 2 เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับระบบราง ผ่านแนวรถไฟทางคู่สายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ ของ รฟท. โดยมีแผนเริ่มการก่อสร้างภายในเดือนเมษายน 2566 ส่วนแผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) แห่งอื่น ๆ อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวน ความเหมาะสมและรูปแบบการร่วมลงทุนของโครงการ รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ โดยจากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า โครงการสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเหมาะสมและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งถูกบรรจุอยู่ในแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน (PPP) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดย ขบ. จะได้เร่งรัดนำเสนอผลการศึกษาและหลักการของโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป