In Bangkok
'กรุงเทพมหานครโปร่งใส'ปักหมุดหมาย กทม.เป็นOpen Government

กรุงเทพฯ-กรุงเทพมหานครมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนนโยบายด้านความโปร่งใสและการต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลากหลายนโยบาย โครงการ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในวันนี้ (24 ก.พ. 66) จึงได้จัดงานแถลงข่าว “กรุงเทพมหานครโปร่งใส” ขึ้น เพื่อรายงานความคืบหน้าและยืนยันแนวทางการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้แก่ นโยบายโปร่งใส ไม่ส่วย นโยบายลดเสี่ยงโกง ผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่ายประชาชน รวมถึงนโยบายเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ครอบคลุมทั้งของ กทม. และกรุงเทพธนาคม ให้ประชาชนได้ทราบ
โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวได้แก่ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางสาวบุญญรัตน์ กิตติวรวุฒิ ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และนางสาว Bernadine Fernz (Head of Sustainability, Head of Infrastructure, Head of Asia Pacific) ผู้แทนจาก Open Contracting Partnership (OCP)
● กางข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการต้านทุจริตของกทม.
รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่านโยบายด้านการต่อต้านการทุจริตเป็นสิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมุ่งมั่นดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ซึ่งกรุงเทพมหานครก็ได้สนองตอบนโยบายดังกล่าว โดยร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ประกาศเจตนารมณ์ “ไม่เฉย ไม่ทำ ไม่ทน” เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 เพื่อกระตุ้นจิตสํานึกให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ข้าราชการกรุงเทพมหานคร บุคลากรกรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานอื่นในกรุงเทพมหานคร ไม่เฉย ไม่ทำ และไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ
จากนั้นได้มีการหารือเพิ่มเติมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและผลักดันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1. นำระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนขึ้นสู่ระบบออนไลน์และพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตกับกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนยื่นคำขอ รับเอกสาร และจ่ายเงินได้สะดวก ติดตามสถานะได้ผ่านเว็บไซต์ https://eservice.bangkok.go.th 2. ประกาศนโยบายไม่รับของขวัญและของกำนัลจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือ No Gift Policy เพื่อให้ปฏิบัติงานอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ 3. ผลักดันการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานครผ่านเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานครเองและแพลตฟอร์มของภาคีเครือข่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงและนำเข้าข้อมูล 4. กำหนดให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย Thai Private Sector Collective Action Against Corruption หรือ CAC และ 5. ประกาศแนวทางการจัดซื้อจัดหาและส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ของสำนักการแพทย์และสำนักอนามัยไม่ให้มีค่าคอมมิชชัน โดยประกาศให้หน่วยงานทราบและถือปฏิบัติมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 65
* จัดตั้ง 2 ศูนย์ต่อต้านทุจริต
รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกกิจกรรมที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการคือ การจัดตั้ง 2 ศูนย์ต่อต้านการทุจริตในองค์กร ได้แก่ 1. ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ เพื่อเป็นหน่วยกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ ป้องกันการทุจริตเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่หรือมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต เพื่อลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดการทุจริตในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และ 2. ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) โดยมีรองปลัดกรุงเทพมหานคร (นายเฉลิมพล โชตินุชิต) สั่งราชการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการดำเนินการลงพื้นที่ในเรื่องพิเศษ (เฉพาะกิจ) ในการสอบสวนจับกุม ตลอดจนวางแผนจับกุม โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจากการดำเนินการประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบอำนาจให้รองปลัดกทม.สั่งราชการสำนักงาน ก.ก. แต่งตั้งหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. หรือผู้แทน ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นคณะทำงาน หรือกำหนดพื้นที่หรือภารกิจในการตรวจสอบเชิงรุก และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนได้โดยตรง พร้อมมอบหมายประธานกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตแจ้งผู้อำนวยการเขตทุกเขตให้กำชับหน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ทราบและเตรียมความพร้อมในเรื่องของข้อมูล/เอกสาร สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบ
ทั้งนี้ ศตท.กทม. ได้มีการตั้งคณะทำงานหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนและภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 2. ด้านงานโยธา เช่น ใบอนุญาตอาคาร และ 3. ด้านงานเทศกิจ ซึ่งคณะทำงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ จำนวน 4 ครั้ง และได้ขอข้อมูลเบื้องต้นกับผู้แจ้งเบาะแสทางโทรศัพท์ และมีการนัดหมายเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ ตลอดจนให้ผู้แจ้งเบาะแสมาให้ข้อมูลต่อคณะทำงาน รวมถึงได้มีการประชุมหารือนอกรอบกับสำนักงาน ป.ป.ช. ผ่านทาง ZOOM เพื่อเตรียมการและบูรณาการความร่วมมือในการลงพื้นที่ ร่วมกันเชิงรุก โดยได้หารือมาตรการป้องกันมิให้ผู้แจ้งเบาะแสต้องกังวลเรื่องความลับรั่วไหล พร้อมประสานกับผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นางสาวศนิ จิวจินดา) ในการติดตั้งเชื่อมระบบการร้องเรียนการทุจริตกับ Traffy Fondue
อีกทั้งได้หารือร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีประเด็นสำคัญคือ ให้ ศตท.กทม.จัดทำแผนการตรวจสอบลงพื้นที่ เพื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจให้ตรงวัตถุประสงค์ มีการปรับปรุงในประเด็นการรักษาความลับของผู้แจ้งเบาะแสใน Traffy Fondue ในส่วนของการจับการกระทำผิดซึ่งหน้า สำนักงาน ป.ป.ช.จะแจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ จับกุม และร่วมแถลงข่าว กรณีมีเรียกรับเงิน สามารถนัดผู้แจ้งให้พบกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้โดยตรง หรือรวบรวมส่งเรื่องเท่าที่มีให้สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่หาข่าวในพื้นที่เป้าหมายได้ นอกจากนี้ได้มีการประชุมบูรณาการร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. และได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นางสาวศนิ จิวจินดา) และ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม เกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Traffy fondue กับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการส่งต่อเรื่องทุจริตด้วย
* ร้องเรียนการทุจริตทาง Traffy fondue ได้แล้ว
รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เชื่อมระบบการร้องเรียนการทุจริตกับ Traffy Fondue ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตผ่านหมวด “กรุงเทพฯ โปร่งใส” มาให้ ศตท.กทม. โดยตรง ซึ่งจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบต่อไป โดยระบบจะมีการรักษาความลับของผู้แจ้งเบาะแส ไม่ปรากฏข้อมูลบนหน้าแดชบอร์ดรวมปัญหาเส้นเลือดฝอยเหมือนการร้องเรียนในหมวดอื่น ๆ ทั้งนี้ ได้มีการเชื่อมโยงระบบของ ศตท.กทม. กับสำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีการร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue จำนวน 11 เรื่อง ซึ่ง ศตท.กทม. กำลังดำเนินการ 5 เรื่อง เสร็จสิ้น 2 เรื่อง และส่งต่อ 4 เรื่อง
* 28 คู่สัญญาเข้าร่วมกิจกรรมการประเมิน ITAGC ปี 66
“นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังร่วมกับ ป.ป.ช. ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITAGC โดยสํานักงาน ป.ป.ช. ได้ประสานขอความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร ประสานให้หน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 28 คู่สัญญา เข้าร่วมกิจกรรมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นอีก 1 ก้าว ในเรื่องของความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการมา ซึ่งจะยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นและจริงจังต่อไป” รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวทิ้งท้าย
● สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยร่วมมือกับกทม. ผ่านโครงการ Open Bangkok
นอกจากโครงการต่อต้านการทุจริตข้างต้น กรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของกรุงเทพมหานคร ยังได้ผลักดันโครงการ Open Bangkok ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ และพัฒนาการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครร่วมกัน ซึ่งดำเนินการใน 5 มิติ ได้แก่ Open Data: เปิดข้อมูลเป็นสาธารณะ Open Contracting: จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส Open Policy: ร่วมติดตามและพัฒนานโยบาย Open Innovation: สร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาเมือง และ Open Service: ยกระดับบริการและเปิดพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้เห็นศักยภาพของโครงการดังกล่าวว่าน่าพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบของไทย จึงได้เข้ามาร่วมงานกับกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด ช่วยสนับสนุนด้าน Open Data และ Open Contracting ให้ได้มาตรฐานสากล
โอกาสนี้ นางสาวบุญญรัตน์ กิตติวรวุฒิ ได้กล่าวว่า ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้มีความร่วมมือกับหลายประเทศทั่วโลกในเรื่องของการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในเรื่องของการพัฒนาเมืองก็เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะประชากรเกินครึ่งทั่วโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งก็จะมีปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่คิดว่าเราต้องร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน โดยที่ผ่านมาทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีความร่วมมือกับทางกทม.มายาวนาน ทั้งโครงการ Global Future City ที่ทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการเมืองให้พร้อมรับกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของโครงการด้านความโปร่งใสที่วันนี้เรามาคุยกันก็เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะรัฐบาลที่ดีและการให้บริการสาธารณะที่ดีนั้นควรจะมีความโปร่งใสและให้ประชาชนตรวจสอบได้ สำหรับเร็ว ๆ นี้ เราก็จะมีโครงการที่ทำกับทางกรุงเทพมหานคร คือ เรื่องการใช้ Open Data การทำข้อมูลเปิดมาเพื่อช่วยในการให้บริการสาธารณะ ซึ่งเป็นการส่งเสริมความโปร่งใส โดยการนำข้อมูลมาเปิดให้เป็นข้อมูลสาธารณะนี้จะช่วยในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้พัฒนาการบริการสาธารณะให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างดีที่สุดต่อไป โดยเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับกรุงเทพมหานคร และ Open Contracting Partnership หรือ OCP ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลก
● ร่วมมือ OCP เดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส มุ่งผลลัพธ์ 4 ด้าน: โอกาสทางการแข่งขัน คุณภาพสินค้า/บริการ/การก่อสร้าง ประสิทธิภาพการใช้จ่าย ผลกระทบภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
นางสาว Bernadine Fernz กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาที่นี่และได้ร่วมงานกัน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องความโปร่งใส แต่การปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะจะสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้อย่างแท้จริงในแนวทางที่มีความหมายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น พวกเราได้สร้างประชาคมโลกที่จะมาเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม โดยภารกิจของเราคือการพลิกโฉมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะและเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะช่วยลดการทุจริต เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้มีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน
หัวใจสำคัญของ Open Contracting หรือการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสนั้น เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลที่เปิดเผย เข้าถึงได้ และทันท่วงทีในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการระบุและแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่การจัดซื้อทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการวางแผน การประกวดราคา การให้รางวัล และการนำไปปฏิบัติ จนถึงการส่งมอบหรือเสร็จสิ้น
Open Contracting ถือเป็นบรรทัดฐานสากลที่กว่า 50 ประเทศและเมืองทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ โดยแต่ละเมืองอาจมีเป้าหมายของการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างที่ต่างกัน จากที่ได้เวิร์กชอปร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร OCP พบว่า ชั้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานครสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลด้วย แต่ก็ถือว่ามีพื้นฐานที่ดี หรือหากมีเป้าหมายอื่น เช่น เพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการภายใน คำนวณความคุ้มค่าของโครงการ ก็จำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลตามตัวชี้วัดที่กำหนด
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานคร แนวทางที่กรุงเทพมหานครสนใจและเป็นไปได้คือการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างโดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. โอกาสทางการแข่งขัน 2. คุณภาพของสินค้า บริการ และงานก่อสร้าง 3. ประสิทธิภาพในการใช้จ่าย และ 4. ผลกระทบทางภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกรุงเทพมหานครจะกำหนดขอบเขตเพื่อเป็นโครงการนำร่อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างด้านการจัดการน้ำท่วม หรือการจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ ก่อนขยายผลไปยังโครงการหรือนโยบายอื่น ๆ
ปัจจุบัน Open Contracting เป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ได้รับการรับรองและสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศมากมาย รวมถึง Open Government Partnership และ G20 Global Smart Cities Alliance ซึ่งหากกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินนโยบายที่ชัดเจน ก็เป็นไปได้ที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมืองและได้รับการรับรองเทียบเท่ามหานครระดับสากล
● สรุปกลยุทธ์กทม. 3 แนวทาง: ปรับกระบวนการทำงาน บริหารแบบมีส่วนร่วม มุ่งสู่มาตรฐานสากล
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และ Open Contracting Partnership (OCP) มาประมาณ 3 - 4 เดือน ซึ่งต้องเรียนว่ามีความท้าทายต่าง ๆ กว่าจะมีวันนี้ โดยสามารถสรุปสั้น ๆ เป็นกลยุทธ์ของกรุงเทพมหานครโปร่งใสได้ 3 แนวทาง คือ ปรับกระบวนการทำงาน บริหารแบบมีส่วนร่วม มุ่งสู่มาตรฐานสากล
แนวทางที่ 1 การปรับกระบวนการทำงาน จะต้องมีการปรับเยอะตั้งแต่การค้นหาข้อมูล ที่ผ่านมาการเก็บข้อมูลของเรามีหลายถังข้อมูลมาก การที่จะเอาข้อมูลมาทำเพื่ออย่างหนึ่ง จะต้องออกแบบตั้งแต่ต้น อย่างที่เราได้ไปฟังที่อังกฤษ เขาบอกว่าข้อมูลต้องมีต้องมีจุดมุ่งหมาย แต่เมื่อมีจุดมุ่งหมายมาทีหลัง การนำข้อมูลที่มีอยู่มาเพื่อตอบจุดมุ่งหมายจึงเป็นเรื่องท้าทายมาก ต้องขอบคุณทีมงานที่ทำงานอย่างหนักตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
อย่างที่ทาง OCP กล่าวเมื่อสักครู่ จะเห็นว่ากรุงเทพมหานครมีข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์ได้ในอนาคต ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 3 เรื่องหลัก ๆ คือ 1. เรื่องความคุ้มค่า เราอยากให้การจัดซื้อจัดจ้างคุ้มค่า ซึ่งไม่ได้แปลว่าถูกที่สุดอย่างเดียว แต่ต้องมีคุณภาพงานด้วย 2. เรื่องการแข่งขัน หรือ competition ซึ่งจะทำให้มีหลายเจ้าแข่งกันเข้ามานำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเรา 3. เรื่องคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด ทั้ง 3 เรื่องนี้ ทำให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูล การเปิดเผยสัญญา ไม่ใช่เรื่องโปร่งใสอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วม ซึ่งนำไปสู่แนวทางที่ 2 การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ให้ภาคีเครือข่ายและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แจ้งเบาะแส เสนอแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยสามารถแจ้งเข้ามาทาง Traffy Fondue ซึ่งจะปกป้องข้อมูลคนที่ส่งเบาะแส นอกจากนี้ได้มีคำสั่งจากท่านผู้ว่าฯ ให้ทุกหน่วยงานของกทม.เปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ และประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ว่ากทม.ใช้งบประมาณไปกับอะไร ต้องการพัฒนาไปในแนวทางไหน
แนวทางที่ 3 การมุ่งสู่มาตรฐานสากล โดยการทำ Open Bangkok หรือเรื่องความโปร่งใส จะต้องทำให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ซึ่งแนวทางการดำเนินงานคือต้องมีการร่วมมือกับภาคีระดับสากล วันนี้จึงถือเป็นมิติใหม่ที่เราได้นำงานของกทม.ที่เป็นระดับท้องถิ่น มาร่วมมือกับทางสถานทูตและ OCP ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีการทำงานกับหลายประเทศและหลายเมืองทั่วโลก เรามีความตั้งใจที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็น Open Government หรือรัฐบาลเปิด ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
“ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน ตั้งแต่สำนักงาน ก.ก. สำนักการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริต (ศตท.) และทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตั้งใจทำงานกันเต็มที่ ขอบคุณภาคีและผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ทั้ง OCP ที่มาแถลงด้วยกัน HAND Social Enterprise ที่ทำงานกับเราอย่างใกล้ชิด สำนักงาน ป.ป.ช. กรมบัญชีกลาง สถานทูตอังกฤษ UNODC ACT ตลอดจน CoST ที่กำลังเตรียมงานกันอยู่ รวมถึงขอขอบคุณประชาชนที่ร่วมติดตามและตรวจสอบการทำงานของกรุงเทพมหานคร หลังจากนี้เราจะมีการอัปเดตงานอย่างต่อเนื่อง หากมีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ในการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เปิดกว้างและมีความโปร่งใสมากขึ้นได้เรายินดีรับฟังและพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติต่อไป” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
สำหรับวันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กรมบัญชีกลาง สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (HAND Social Enterprise) ตลอดจนผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าว
โดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ความโปร่งใสเป็นเรื่องแรก ๆ ที่กทม.ต้องจัดการ เปรียบเสมือน Elephant in the room หรือเป็นช้างที่อยู่ในห้อง หากเราทำเป็นไม่สนใจ เดี๋ยวช้างจะเหยียบกันตายแน่ ฉะนั้น เรื่องความโปร่งใสเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระจ่างชัด สุดท้ายจะสร้างความไว้ใจจากประชาชนได้ ซึ่งเมื่อไรที่เราได้ความไว้ใจจากประชาชนกลับคืนมา จะเป็นพลังที่จะพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต่อไป เชื่อว่าทุกคนอยากจะร่วมมือกัน แต่ที่ผ่านมาอาจจะขาดความไว้ใจซึ่งกันและกัน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าเราขาดความโปร่งใส ดังนั้น หากเราสามารถสร้างความโปร่งใส ก็จะมีประโยชน์ต่อเรื่องการสร้างความไว้วางใจ ตลอดจนทำให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้มีเงินหรืองบประมาณเหลือไปทำโครงการต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อไป
“ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ทำให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนที่เราได้ไปเยือนอังกฤษที่ผ่านมาด้วย ต้องเรียนว่าวันนี้เป็นก้าวแรกและยังต้องเดินทางอีกยาวไกล ไม่ใช่ว่าวันนี้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปได้เลย แต่เชื่อว่าเป็นก้าวแรกของการเดินทาง ที่เราอยากชวนทุกคนมาเดินร่วมกันกอบกู้และแสดงให้เห็นถึงศักดิ์ศรี ประชาชนมองกทม.ด้วยความชื่นชมและมีความไว้วางใจกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวตอนท้าย