Travel Sport & Soft Power

ชาวบ้านตูม-กาฬสินธุ์สืบประเพณีโบราณ อัญเชิญพระอุปคุตบุญเดือนสี่ให้ขอพร



กาฬสินธุ์-ชาวบ้านตูม ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุต อธิษฐานขอความร่มเย็นเป็นสุข ผ่านพ้นภัยแล้ง และร่วมกันแห่ผ้าผะเหวดแบบโบราณ ก่อนเริ่มงานบุญมหาชาติ เพื่อสืบสานงานประเพณีบุญเดือน 4 ตามฮีตสิบสองคองสิบสี่

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณโบราณสถานโนนบ้านเก่าและศาลปู่หอใต้ บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 4 พร้อมด้วยนายบรรเจิด สุธรรมมา พ่อขะจ้ำประจำหมู่บ้าน นำชาวบ้านกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุต ก่อนร่วมกันแห่ผ้าผะเหวดหรือผ้าพระเวส มาที่วัดโพธิ์ชัยบ้านตูม ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานบุญเดือน 4 ตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ ของชาวอีสาน  ที่ชาวบ้านได้ร่วมกับคณะสงฆ์ นำพาบุตรหลานสืบทอดมาเป็นประจำทุกปี

นายบรรเจิด สุธรรมมา พ่อขะจ้ำประจำหมู่บ้าน กล่าวว่า ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ก่อนเริ่มงานบุญมหาชาติ จะอัญเชิญพระอุปคุต ที่สถิตอยู่บริเวณสระน้ำตามความเชื่อ มาสถิต ณ บริเวณพิธีทำบุญ  ทั้งนี้ จะมีการนำดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าหรือขันแปด มากราบไหว้และประกอบพิธีอัญเชิญ สำหรับสระน้ำของชาวบ้านตูมที่มีความเชื่อว่าพระอุปคุตสถิตอยู่ คือบ่อน้ำ ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับศาลปู่หอใต้ ใกล้กับโบราณสถานโนนบ้านเก่า โดยบ่อน้ำดังกล่าวมีลักษณะเป็นบ่อน้ำซึม มีน้ำขังตลอด  ชาวบ้านได้มาตักไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี

นายบรรเจิดกล่าวอีกว่า สำหรับพระอุปคุตนั้น ชาวพุทธยังมีความเชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลความร่มเย็นเป็นสุข สามารถดลบันดาลให้เกิดฝนตกลงมา การอัญเชิญพระอุปคุตและแห่ผ้าผะเหวดในงานบุญเดือน 4 หรือบุญมหาชาติ  ชาวบ้านยังได้ร่วมกันอธิษฐานขอพรพระอุปคุต ตลอดทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอความเป็นสิริมงคล ไม่เกิดวิกฤติภัยแล้ง สภาพดินฟ้าอากาศไม่วิปริตแปรปรวน การประกอบอาชีพเจริญก้าวหน้า การทำนา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ค้าขายร่ำรวย

อย่างไรก็ตาม พิธีอัญเชิญพระอปคุตและแห่ผ้าผะเหวด หรือผ้าพระเวส ก่อนเริ่มงานบุญเดือน 4 หรือบุญมหาชาติ แต่ละชุมชนอาจจะมีรูปแบบการจัดงานแตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามความพร้อมของแต่ละชุมชน แต่มีจุดหมายเดียวกันคือการร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานประเพณีตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ โดยชาวบ้านตูมร่วมกันจัดงานแบบโบราณ คือเน้นความเรียบง่าย ไม่มีการจัดขบวนแห่ยิ่งใหญ่  เพื่อความประหยัด พอเพียง จากนั้นร่วมกันฟังเทศน์มหาชาติ และร่วมบริจาคปัจจัย เพื่อทำนุบำรุงศาสนสถานและต่อยอดพระพุทธศาสนาอีกด้วย