In Bangkok
'จักกพันธุ์' เยี่ยมเขตพญาไทดูคัดแยกขยะ จัดระเบียบผู้ค้าหน้าตึกพหลโยธินเพลส

กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตพญาไท ต่อยอดแยกขยะเขตพญาไท เยี่ยมฝ่ายรายได้สอบถามการจัดเก็บภาษี จัดระเบียบผู้ค้าหน้าอาคารพหลโยธินเพลส ชมคัดแยกขยะชุมชนแฟลตตำรวจเฉลิมลาภ เช็กค่าฝุ่น PM2.5 โครงการ ONE สนามเป้า
(28 ก.พ.66) เวลา 15.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพญาไท ประกอบด้วย ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารสำนักงานเขตพญาไท เพื่อต่อยอดการคัดแยกขยะระดับเขตแบบสมบูรณ์ครบวงจร เขตฯ มีข้าราชการและบุคลากร 356 คน ประชาชนที่มาติดต่อราชการเฉลี่ย 180 คน/วัน วิธีการคัดแยกขยะโดยจำแนกตามประเภท ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ (ถังสีเขียว) คัดแยกเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานประจำวัน ซึ่งสามารถย่อยสลายได้นำมาส่งทำปุ๋ยหมักเศษอาหาร โดยรวบรวมใส่ถุงพลาสติกเทน้ำออกและมัดปากถุงให้เรียบร้อย นำมาใส่ในถังพักขยะเศษอาหารขนาด 80 ลิตร หากปริมาณขยะเศษอาหารมีน้อย จะรอรวบรวม 2-3 วัน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาฯ จะทยอยนำขยะเศษอาหารใส่ในเครื่องกำจัดเศษอาหารตามรอบเวลา 13.00 น. และเวลา 17.00 น. โดยใน 1 ครั้ง จะใส่เศษอาหารไม่เกิน 3 กิโลกรัม และใน 1 วัน จะใส่เศษอาหารไม่เกิน 5 กิโลกรัม เครื่องกำจัดเศษอาหารจะเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์จะหยุดใส่เศษอาหาร และเวลา 17.00 น. จะตักปุ๋ยเศษอาหารในเครื่องออกมาใส่ถุง และทำความสะอาดเครื่อง เพื่อเตรียมนำเศษอาหารใส่เครื่องใหม่ในเช้าวันจันทร์ 2.ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก แก้ว กระป๋อง อลูมิเนียมหรือสิ่งของที่ไม่ใช้งาน เก็บรวบรวมใส่เข่งที่จัดไว้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาฯ จัดเก็บทุกวันศุกร์ ส่วนขวดน้ำพลาสติก ให้นำมาทิ้งที่คอกรับขวด เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อไป 3.ขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตราย สารพิษ สารเคมี วัตถุไวไฟ ให้เก็บรวบรวมไว้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาฯ จัดเก็บทุกวันศุกร์ 4.ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ ให้ทิ้งขยะใส่ในถุงดำที่แม่บ้านจัดไว้ มัดปากถุงให้เรียบร้อย นำลงไปทิ้งบริเวณจุดที่กำหนดไว้ 5.ขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง)
ได้แก่ หน้ากากอนามัย หรือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่ง นำใส่ถุงพลาสติกขนาดเล็กมัดปากถุงให้แน่น เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,180 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 970 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้ สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การใช้งานระบบจัดเก็บภาษีสำหรับน้ำมันฯ แบบใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนติดตามการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าอาคารพหลโยธินเพลส ถนนพหลโยธิน เขตฯ มีจุดผ่อนผันที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) เห็นชอบและประกาศเป็นพื้นที่อนุญาตทำการค้าแล้ว จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 226 ราย ดังนี้ 1.ซอยพหลโยธิน 7 (ซอยอารีย์ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 84 ราย (กลางวัน 54 ราย กลางคืน 30 ราย) ซึ่งเป็นต้นแบบในการจัดระเบียบผู้ค้า โดยตั้งแต่ปี 2560 เขตฯ ได้ลงนามความตกลงร่วมกับธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อจัดทำแผงค้าให้เป็นรูปแบบและมีขนาดเดียวกันเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และในปี 2565 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้มาตรวจสอบและออกป้ายมืออาชีพให้ร้านค้าเพื่อใช้รับรองคุณภาพและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ซื้ออาหารในบริเวณดังกล่าวว่ามีความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และรสชาติอร่อย 2.ถนนประดิพัทธ์ขาเข้า (ซอยเลขคี่) ผู้ค้า 68 ราย (กลางวัน 9 ราย กลางคืน 59 ราย) และ 3.ถนนประดิพัทธ์ขาออก (ซอยเลขคู่) ผู้ค้า 28 ราย (กลางวัน 8 ราย กลางคืน 20 ราย) 4.หน้า ปปส. ถนนดินแดง ผู้ค้า 46 ราย
สำหรับพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน (ขอทบทวนจุดยกเลิกเดิม) จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 310 ราย (ผู้ค้าเก่า 182 ราย ผู้ค้าใหม่ 128 ราย) ดังนี้ 1.จุดสาลีรัฐวิภาค ผู้ค้า 55 ราย (เก่า 37 ราย ใหม่ 18 ราย) 2.บริเวณหน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท) 2 ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 28 ราย (เก่า 9 ราย ใหม่ 19 ราย) 3.บริเวณหน้าอาคารพหลโยธินเพลส ผู้ค้า 113 ราย (เก่า 76 ราย ใหม่ 37 ราย) 4.บริเวณซอยพหลโยธิน 9 ผู้ค้า 17 ราย (เก่า 3 ราย ใหม่ 14 ราย) 5.บริเวณหน้าคอนโดออนิกส์ ผู้ค้า 43 ราย (เก่า 30 ราย ใหม่ 13 ราย) 6.บริเวณหน้าโรงแรม Grand Tower Inn ผู้ค้า 9 ราย (เก่า 5 ราย ใหม่ 4 ราย) 7.บริเวณหน้าโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ผู้ค้า 12 ราย (เก่า 11 ราย ใหม่ 6 ราย) 8.บริเวณหลังแฟลตสวัสดิการทบ. ผู้ค้า 17 ราย (เก่า 11 ราย ใหม่ 6 ราย) และ 9.บริเวณใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ถนนพหลโยธินขาเข้า ผู้ค้า 16 ราย (เก่า 9 ราย ใหม่ 7 ราย) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงพิจารณาจัดหาพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center อาจจะเป็นพื้นที่ว่างของเอกชน โดยคำนึงถึงผู้ค้าขายและผู้ซื้อสินค้า ช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ ตลอดจนหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนแฟลตตำรวจส่วนกลางเฉลิมลาภ เป็นชุมชนจัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ประเภทชุมชนอาคารสูง ขนาดพื้นที่ 35 ไร่ มีอาคารที่พักอาศัย 13 หลัง รวม 730 ห้อง ประชากร 2,721 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2565 (วันเปิดโครงการไม่เทรวม) วิธีการคัดแยกขยะ 1.ขยะทั่วไป ได้แก่ กล่องโฟม ซองขนม พลาสติก นำใส่ถุงดำหรือถุงพลาสติกที่ใส่ขยะทั่วไป มัดปากถุงให้เรียบร้อย ใส่ถังรองรับมูลฝอย 2.ขยะอินทรีย์ ได้แก่ อาหาร ก๋วยเตี๋ยว ผัก ผลไม้ ขนม ใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้เรียบร้อย ใส่ถังรองรับมูลฝอย เจ้าหน้าที่ในชุมชนจะนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยนำขยะใส่เครื่องถังกำจัดเศษอาหาร เพื่อทำปุ๋ยนำไปใช้ในการปลูกผักสวนครัว และใส่ต้นไม้ หรือนำขยะไปใส่ถังหมักรักษ์โลก เพื่อให้ย่อยสลายตามธรรมชาติและเป็นการบำรุงดินเพิ่มแร่ธาตุให้กับดิน 3.ขยะรีไซเคิล ได้แก่ กระดาษ แก้ว กระป๋อง นำมาทิ้งตามจุดที่รองรับ เจ้าหน้าที่ในชุมชนจะรวบรวมเพื่อรอการจำหน่าย เป็นสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ในการคัดแยกขยะ 4.ขยะอันตราย ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตราย เขตฯ จะจัดเก็บทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของเดือน หรือจัดเก็บตามโครงการนัดทิ้ง นัดเก็บ ขยะชิ้นใหญ่ 5.ขยะติดเชื้อ ได้แก่ หน้ากากอนามัย นำใส่ถุงพลาสติกขนาดเล็ก มัดปากถุงให้แน่น เขตฯ จัดเก็บทุกวันที่ 15 ของเดือน นำไปส่งศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ ปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 36,763 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 36,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 150 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ ONE สนามเป้า ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในพื้นที่เขตฯ มีสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ดังนี้ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 11 แห่ง ประเภทโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 10 แห่ง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายเขตฯ ตรวจสอบตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัย กำชับผู้ประกอบการปรับปรุงเครื่องฉีดพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่น ปรับปรุงพื้นที่ล้างล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ทำความสะอาดพื้นถนนและปรับพื้นให้เรียบเสมอกัน โดยเน้นย้ำผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมและป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสุวรรณ ศิริมุจลินท์ ผู้อำนวยการเขตพญาไท พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพญาไท สำนักเทศกิจ ชาวชุมชนแฟลตตำรวจส่วนกลางเฉลิมลาภ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล