In Bangkok

'ศานนท์'สั่งลุยพัฒนา'ลานกีฬาเพื่อทุกคน' จัดประกวดแบบลานกีฬากทม.ถึง31มี.ค.นี้



กรุงเทพฯ-ลุยพัฒนา “ลานกีฬาเพื่อทุกคน” จัดประกวดแบบลานกีฬา กทม. ส่งผลงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม นี้ จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมพัฒนาลานกีฬา ซึ่งเป็น “เส้นเลือดฝอย” ในชุมชน เสริมความรู้ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาลานกีฬาต่อไป กลุ่ม we!park ใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาลานกีฬาต้นแบบแห่งแรก สู่การบริหารจัดการร่วมกันอย่างยั่งยืน สมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ร่วมจัดประกวดแบบลานกีฬา ระดมแนวคิดหลากหลาย กระตุ้นการมีส่วนร่วมจากทุกคนในพื้นที่ และเผยเงื่อนไขกิจกรรมประกวดแบบลานกีฬา ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมหลายแสนบาท

(28 ก.พ. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงานแถลงข่าวพัฒนาลานกีฬานำร่อง “ลานกีฬาเพื่อทุกคน” โดยมี นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) นางสาวขวัญชนก คงโชคสมัย ภูมิสถาปนิก ผู้แทนจาก we!park นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายสุเมธ ฐิตาริยกุล ประธานกรรมการจัดกิจกรรมประกวดแบบลานกีฬาเพื่อทุกคน ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร 

กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการพัฒนาลานกีฬา ดังนี้ นโยบายการพัฒนาลานกีฬา 1 เขต 1 ลาน นโยบายการพัฒนาลานกีฬา 180 แห่ง 180 ชุมชน และนโยบายการพัฒนาลานกีฬานำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบของลานกีฬา ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนตลอดจนองค์กรต่าง ๆ ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพลานกีฬาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านกายภาพ การบริหารจัดการ การจัดกิจกรรม การส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อลานกีฬามีมาตรฐานสำหรับการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย และการพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ตามความต้องการของชุมชน และเป็น “ลานกีฬาเพื่อทุกคน” 


  
● จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมพัฒนาลานกีฬา ซึ่งเป็น “เส้นเลือดฝอย” ในชุมชน

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า  เรื่องลานกีฬาเป็นเรื่องที่ได้เริ่มประชุมเพื่อดำเนินการมาตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคม 2565 ด้วยเล็งเห็นว่าลานกีฬาเปรียบเสมือนกับ “เส้นเลือดฝอย” ในพื้นที่ชุมชนที่แท้จริง และทุกลานกีฬาจะอยู่ใกล้กับผู้ใช้งานเสมอ เช่น ใต้สะพาน ใต้ทางด่วน สวนสาธารณะ และเขตพื้นที่โรงเรียน เป็นต้น แต่ละลานกีฬาก็จะมีผู้ใช้งานและช่วงเวลาเปิด-ปิดที่แตกต่างออกไป เช่น ลานกีฬาที่อยู่กลางพื้นที่ชุมชนซึ่งมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากก็อาจจะมีผู้ใช้งานมาใช้สถานที่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกลานกีฬาล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น จึงเป็นที่มาของนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้มีพื้นที่ลานกีฬาในทุกแขวง และต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้เร็วที่สุด 

การจัดสรรงบประมาณในปี พ.ศ. 2567 ของกรุงเทพมหานคร มีโครงการปรับปรุงลานกีฬาจำนวน 180 แห่ง ซึ่งนอกจากการรองบประมาณรัฐ หัวใจสำคัญในการพัฒนาลานกีฬาคือการร่วมไม้ร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ พัฒนาลานกีฬาให้เป็น “ลานกีฬาเพื่อทุกคน” โดยมีสิ่งที่ต้องคำนึง คือ มิติของงบประมาณที่ต้องร่วมมือกับทางภาคเอกชน มิติของการออกแบบที่ต้องเข้าถึงผู้ใช้งาน และมิติของผู้ใช้งานที่ต้องคำนึงถึงความต้องการในการใช้ลานกีฬาด้วย นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้จัดสรรอาสาสมัครลานกีฬา เพื่อช่วยดูแลทุกลานกีฬาในพื้นที่กรุงเทพฯ และประสานงานระหว่างลานกีฬากับหน่วยงานต่าง ๆ ในการส่งเสริมกิจกรรมกีฬา รวมถึงรับทราบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างตรงจุดอีกด้วย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย ร่วมพัฒนาลานกีฬาไปพร้อมกับกรุงเทพมหานคร


  
● เสริมความรู้ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาลานกีฬาต่อไป

โอกาสนี้ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ได้กล่าวว่า  สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เป็นผู้ที่ดูแลในเรื่องของลานกีฬา ซึ่งเดิมกรุงเทพมหานครมีลานกีฬา 1,034 แห่ง แต่ปัจจุบันได้มีการปรับลดจำนวนลงเพราะบางพื้นที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น โดยคงเหลือลานกีฬาจำนวน 967 แห่ง สำหรับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นมุ่งพัฒนาพื้นที่ลานกีฬาให้เป็นลานกีฬาเพื่อทุกคน คือเยาวชนและประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ เป็นลานกีฬาต้านยาเสพติด และเป็นลานกีฬาที่สร้างกิจกรรมร่วมกันสำหรับคนในชุมชน โดยเราได้รับความร่วมมือจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ we!park และภาคีเครือข่ายในการร่วมพัฒนาลานกีฬานำร่อง จำนวน 12 แห่ง 

นอกจากนี้ เรายังได้มีการอบรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของผู้นำกิจกรรม เช่น การเต้นแอโรบิก หรือการอบรมหารือกับนายกสโมสรกีฬาจาก 50 สำนักงานเขต เพื่อนำความรู้ไปสร้างประโยชน์ในพื้นที่ และในเดือนมีนาคม 2566 จะจัดอบรมอาสาสมัครลานกีฬา ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาลานกีฬาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน

● กลุ่ม we!park ใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาลานกีฬาต้นแบบแห่งแรก สู่การบริหารจัดการร่วมกันอย่างยั่งยืน

ด้าน ผู้แทนจาก we!park กล่าวว่า we!park เป็นพื้นที่กลางซึ่งเชื่อมโยงผู้คนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในการออกแบบ สร้างสรรค์ และค้นหากลไกดูแลพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็ก ที่จะกระจายไปในพื้นที่เมืองที่หนาแน่นของกรุงเทพมหานคร ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
 
สำหรับกลุ่ม we!park จะมีผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย อาทิ สถาปนิก ผู้ที่ทำด้านการพัฒนาเมืองเกี่ยวกับฐานข้อมูล เป็นต้น ซึ่งได้มาทำงานด้วยกันโดยใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เริ่มจากการสำรวจพื้นที่ การรับฟังความคิดเห็น เก็บข้อมูลความต้องการของชุมชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด นำไปสู่กระบวนการออกแบบ หลังจากนั้นจึงจัดทำพื้นที่ทดลอง เพื่อทดลองใช้งานและเก็บรวบรวมความคิดเห็นว่าเมื่อทดลองใช้งานจริงแล้วเป็นอย่างไร แล้วจึงพัฒนาเป็นแผนซึ่งมีความเหมาะสมที่สุด ดีที่สุด หรือลงตัวที่สุดตามความต้องการของชุมชน และดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมทั้งการระดมทุนและการระดมแรงเพื่อพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นให้เกิดขึ้น สุดท้ายคือหาความเป็นไปได้ที่จะบริหารจัดการร่วมกันอย่างยั่งยืน ขยายผลสู่โครงข่ายลานกีฬาในระดับเขตและกลุ่มเขตต่อไป

ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาพื้นที่แห่งแรก ณ บริเวณลานกีฬาริมแม่น้ำเจ้าพระยา โบสถ์กาลหว่าร์ (วัดแม่พระลูกประคำ) และโรงเรียนกุหลาบวิทยา ถนนโยธา เขตสัมพันธวงศ์ โดยเปิดตัวในช่วงของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ซึ่งได้มีการวางแนวทางเกณฑ์และมาตรฐานลานกีฬาเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับพัฒนาลานกีฬาอื่น ๆ ประกอบด้วย ส่งเสริมสุขภาพ เป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม เป็นพื้นที่สำหรับการพบปะของชุมชน สามารถเอื้อให้เกิดการจัดกิจกรรมของชุมชนต่อไป และส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่ที่ให้ร่มเงาได้ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อให้สิ่งที่เราสร้างมีคุณภาพที่ดี สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต 
  
● สมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ร่วมจัดประกวดแบบลานกีฬา ระดมแนวคิดหลากหลาย กระตุ้นการมีส่วนร่วมจากทุกคนในพื้นที่
 
นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า  ขอขอบคุณทาง กทม. ที่เล็งเห็นความสำคัญของทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ และเชิญให้สมาคมฯ ในฐานะองค์กรอิสระทางด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการหาแนวทางพัฒนาพื้นที่ลานกีฬา เราได้เห็นถึงความสำคัญของงานออกแบบที่มีผลต่อการเป็นอยู่ของคนในเมือง จึงได้ร่วมจัดโครงการประกวดแบบลานกีฬาขึ้น เนื่องด้วยการประกวดแบบนั้น เป็นวิธีการซึ่งทำให้ได้แนวความคิดจากสถาปนิก นักเรียน นักศึกษา ที่มีความหลากหลาย ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ เด็กรุ่นใหม่ได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ลานกีฬา เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาลานกีฬาในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย โดยแบบที่ได้รับการคัดเลือกนั้น ทางสมาคมฯ จะนำเสนอให้แก่ทาง กทม. เพื่อใช้เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่ลานกีฬาอื่น ๆ ต่อไป 

 ● เผยเงื่อนไขกิจกรรมประกวดแบบลานกีฬา ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมหลายแสนบาท
 
ประธานกรรมการจัดกิจกรรมประกวดแบบลานกีฬาเพื่อทุกคน กล่าวว่า  สำหรับกิจกรรมประกวดแบบลานกีฬาเพื่อทุกคนจัดขึ้นโดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน โดยกำหนดพื้นที่ 2 แห่ง เป็นโจทย์ในการประกวด คือ ลานกีฬาโครงการบ้านเอื้ออาทร เขตบึงกุ่ม ซึ่งมีพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา และลานกีฬาชุมชนร่มเย็น เขตบางแค ซึ่งมีพื้นที่ 2.65 ไร่

คุณสมบัติของผู้ส่งผลงานแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทสถาปนิก (ส่งผลงานแบบกลุ่ม โดยต้องประกอบด้วยสถาปนิก 1 ท่าน และภูมิสภาปนิก 1 ท่าน เป็นอย่างน้อย) และ 2. ประเภทนักเรียน นักศึกษา (ไม่จำกัดชั้นปี) และประชาชนทั่วไป (สามารถส่งผลงานได้ทั้งแบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่ม) โดยผู้เข้าประกวดแบบจะต้องนำเสนอแนวความคิดในการออกแบบพัฒนาลานกีฬาเพื่อเป็นต้นแบบลานกีฬาที่มีความเหมาะสม โดยจะต้องเสนอแนวทางในการนำไปปรับใช้กับลานกีฬาอื่น ๆ ที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครด้วย 

ในการตัดสินจะมีคณะกรรมการ 5 ท่าน ประกอบด้วย 1. ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร 2. คุณอรรถพร คบคงสันติ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ TROP : terrains + open space 3. คุณนนทวัฒน์ เจริญชาศรี Design Director ของ DUCTSTORE the design guru 4. คุณกศินร์ ศรศรี สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Volume Matrix Studio และ 5. 
หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ ผู้ก่อตั้ง Vin Varavarn Architects  โดยเกณฑ์การพิจารณาตัดสิน ประเภทสถาปนิก ประกอบด้วย 1. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและง่ายต่อการดูแลรักษา 2. ความน่าสนใจของเนื้อหาสาระ แนวคิดในการออกแบบ และ 3. ความปลอดภัยในการใช้งานและความเหมาะสมของกิจกรรมในแต่ละช่วงวัย ตลอดจน Universal Design ส่วนประเภทนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย 1. ความหลากหลายและยืดหยุ่นในการนำไปปรับใช้กับลานกีฬาขนาดอื่น ๆ ได้ 2. ความน่าสนใจของเนื้อหาสาระ แนวคิดในการออกแบบ และ 3. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและง่ายต่อการดูแลรักษา

สำหรับผู้ชนะการประกวดแบบมีดังนี้ 1. ประเภทสถาปนิก รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 120,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ส่วนรางวัลชมเชย 4 รางวัล จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และ 2. ประเภทนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 60,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ส่วนรางวัลชมเชย 4 รางวัล จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

ผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยจะประกาศผลการคัดเลือกรอบที่ 1 ในวันที่ 6 เมษายน 2566 ทั้งนี้ ผู้เข้ารอบที่ 1 จะต้องนำเสนอผลงานในวันที่ 12 เมษายน 2566 โดยจะประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 18 เมษายน 2566 สำหรับผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกนำไปจัดแสดงในงานสถาปนิก’ 66 ระหว่างวันที่ 25 - 30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในส่วนของผลงานที่ประกวดทั้งหมด สมาคมสถาปนิกสยาม ฯ จะส่งมอบให้กับทาง กทม. เพื่อเผยแพร่ให้ทางชุมชนต่าง ๆ ได้รับทราบ และเพื่อเป็นต้นแบบหรือทางเลือกสำหรับการพัฒนาลานกีฬาในชุมชนต่อไป จากนั้น ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 จะเป็นการลงพื้นที่เพื่อพัฒนาแบบร่วมกับผู้ใช้งานในพื้นที่ (ประเภทสถาปนิก) ติดตามรายละเอียดและสมัครประกวดได้ที่ http://www.asa.or.th