In News

'ศักดิ์สยาม'เปิดแผนคมนาคมของ'อยุธยา' ถนน-ระบบราง-ทางน้ำปัจจุบัน-อนาคต



อยุธยา- 'ศักดิ์สยาม'ประชุมติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานโครงการสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประชุมติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานโครงการสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี นายธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ ร่วมประชุม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ณ แขวงทางพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้า สามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างเท่าเทียม สนับสนุนการค้า การท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบาย โดยมอบให้หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดขับเคลื่อนพัฒนาระบบคมนาคมไปสู่ความยั่งยืน ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในทุกมิติ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ เร่งรัดการเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง
การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่เปิดให้บริการแล้วมี 5 โครงการ รวมระยะทาง 35.241 กิโลเมตร ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 329 (เดิม) สายภาชี - บางปะหัน 2) โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางแยกต่างระดับบางปะอิน 3) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33 อ.บางปะหัน - อ.นครหลวง - อ.ภาชี - หินกอง (329 เดิม) ตอน บ.ภาชี - บ.หินกอง ตอน 1 4) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33 อ.บางปะหัน - อ.นครหลวง - อ.ภาชี - หินกอง (329 เดิม) ตอน บ.ภาชี - บ.หินกอง ตอน 2 และ 5) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3056 สาย ต.บ้านหว้า - อ.ภาชี ตอน 2
โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการมี 9 โครงการ รวมระยะทาง 236.341 กิโลเมตร ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างทางคู่ขนาน ทางหลวงหมายเลข 3901 ทางบริการด้านนอก ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านซ้ายทาง ตอน 2 ระยะทาง 12.759 กิโลเมตร สถานะความก้าวหน้าร้อยละ 77.06 คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี พ.ศ. 2566 2) โครงการก่อสร้างทางคู่ขนาน ทางหลวงหมายเลข 3902 ทางบริการด้านนอก ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านขวาทาง ตอน 2 ระยะทาง 12.759 กิโลเมตร  สถานะความก้าวหน้าร้อยละ 78.21 คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี พ.ศ. 2566 3) โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 3111 สาย อ.สามโคก - อ.เสนา ระยะทาง 12.759 กิโลเมตร สถานะความก้าวหน้าร้อยละ 78.21 คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี พ.ศ. 2566 4) โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 3056 สาย ต.บ้านหว้า - อ.ภาชี ตอน 1 ระยะทาง 9.30 กิโลเมตร สถานะความก้าวหน้าร้อยละ 82.53 คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี พ.ศ. 2566 5) โครงการก่อสร้างสะพานลอยกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณ บ.ชะแมบ (ขาเข้า) ระยะทาง 5.523 กิโลเมตร สถานะความก้าวหน้าร้อยละ 75.15 คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี พ.ศ. 2566 6) โครงการก่อสร้างสะพานลอยกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณ บ.ชะแมบ (ขาออก) สถานะความก้าวหน้าร้อยละ 4.64 คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี พ.ศ. 2568 7) โครงการก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บนทางหลวงหมายเลข 309 (สะพานปรีดี-ธำรง) สถานะความก้าวหน้าร้อยละ 4.47 คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี พ.ศ. 2568 8) โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณ บ.ลำไทร (ขาออก) และ 9) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี พ.ศ. 2569

แผนงานในอนาคตมี 12 โครงการ รวมระยะทาง 76.524 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟบนทางหลวงหมายเลข 3470 สาย ภาชี – ท่าเรือ 2) โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณ บ.สนับทึบ 3) โครงการก่อสร้างทางขนานทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณ บ.ชะแมบ ระยะทาง 3.350 กิโลเมตร 4) โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 - ทล.32 ระยะทาง 4.760 กิโลเมตร 5) โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมวงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก ระยะทาง 4.237 กิโลเมตร 6) โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.347 ตัดทล.3263 (แยกวรเชษฐ์) 7) โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 3267 สายอ่างทอง - แยกบางโขมด ระยะทาง 25.857 กิโลเมตร 8) โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 356 ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ ระยะทาง 9.401 กิโลเมตร 9) โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.32 ตัด ทล.33 (แยกตลาด อ.พันธ์) 10) โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.309 ตัด ทล.347 (แยกทุ่งมะขามหย่อง) 11) โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 309 สาย อยุธยา - บางเสด็จ ระยะทาง 5.40 กิโลเมตร และ 12) โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 3501 สาย อ่างทอง - บ.บางหลวงโดด ระยะทาง 23.519 กิโลเมตร

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท
โครงการที่ได้รับงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 55 โครงการ แบ่งเป็น 1) งานก่อสร้างทางและสะพาน จำนวน 7 โครงการ 2 งานบำรุงรักษาทางและสะพาน จำนวน 22 โครงการ 3) งานอำนวยความปลอดภัย จำนวน 26 โครงการ โครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี พ.2566 โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองวัดยม อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา มีระยะทาง 74 กิโลเมตร
โครงการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 76 โครงการ แบ่งเป็น 1) งานก่อสร้างทางและสะพาน จำนวน 15 โครงการ 2) งานบำรุงรักษาทางและสะพาน จำนวน 35 โครงการ 3) งานอำนวยความปลอดภัย จำนวน 26 โครงการ และมีโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมขอรับการจัดสรรงบประมาณในอนาคต จำนวน 2 โครงการ ระยะทาง 20.46 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างถนนสาย อย.3011 แยก ทล.347 - บ.โคก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 13.21 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างขยายถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 13.21 กิโลเมตร และโครงการก่อสร้างถนนสาย อย.3046 แยก ทล.309 - บ.ตลิ่งชัน อ.วังน้อย, บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 7.25 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างขยายถนนเดิมจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ผิวทางเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP เป็นโครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ พัฒนาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ภาคใต้ กับภาคอื่นของประเทศไทย ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยมีแนวเส้นทางที่ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 และเส้นทางเชื่อมต่อจุดสิ้นสุดทางหลวงหมายเลข 6 (บางปะอิน - นครราชสีมา) ต.โพสามหาว อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

การเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะการพัฒนาเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งอื่นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะจากสถานีขนส่งผู้โดยสาร ประกอบด้วย รถหมวด 1 จำนวน 8 เส้นทาง รถหมวด 2 จำนวน 6  เส้นทาง รถหมวด 3 จำนวน 18 เส้นทาง รถหมวด 4 จำนวน 37 เส้นทาง

การพัฒนาทางราง
การพัฒนาด้านระบบรางในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ เส้นทางกาญจนบุรี - สุพรรณบุรี - ชุมทางบ้านภาชี การพัฒนารถไฟความเร็วสูง มี 2 เส้นทาง 1) กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการปี พ.ศ. 2570 2) กรุงเทพฯ - พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม คาดว่าจะเปิดให้บริการปี พ.ศ. 2571

การพัฒนาทางน้ำ
การพัฒนาทางน้ำที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังแม่น้ำลพบุรี บริเวณหมู่ที่ 6 ตำบลขยาย อ.บางประหัน ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2566 2) โครงการก่อสร้างหลักผูกเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 3) โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศคลองสาละโว้ ต.สนามชัย อ.บางไทร ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2565 4) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 12 ตอนที่  อยู่ระหว่างดำเนินการ ผลงานร้อยละ 83.53 5) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 2 ตอนที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการ ผลงานร้อยละ 0.2 6) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 2 ตอนที่ 2 อยู่ระหว่างประกวดราคา 7) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 4 ตอนที่ 2 ระยะทาง 2,440 เมตร เสนอของบประมาณปี 2567

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำให้การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมต้องสะดวก รวดเร็ว ประหยัด ราคาเป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมมีข้อสั่งการให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องพิจารณาความพร้อม ความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน และสภาพพื้นที่ในปัจจุบันประกอบด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมต้องบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้การบริหารโครงการ ในขั้นตอนการเวนคืนจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับด้วยเป็นสำคัญ ในขั้นตอนการศึกษาและการออกแบบให้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต้องไม่ดำเนินการออกแบบที่ไปลดทอนความสะดวกหรือประสิทธิภาพในการคมนาคมของประชาชน และควรผนวกอัตลักษณ์ของความเป็นไทยผสมผสานกับความร่วมสมัยในการออกแบบโครงการด้วย ในขั้นตอนการก่อสร้างให้ควบคุมและเน้นย้ำมาตรการด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ และต้องควบคุมการดำเนินโครงการและบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน รวมถึงให้พิจารณาการใช้แบริเออร์ในการกั้นแบ่งทิศทางการจราจรเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ให้พิจารณานำเทคโนโลยี EV เช่น EV Bus มาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ และการประชาสัมพันธ์ให้ดูมิติทางการสื่อสารให้ครบถ้วนและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม มีการใช้งาน social media และ influencer รวมถึงให้เพิ่มความถี่ในการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การดำเนินงานต่าง ๆ ให้ยึดกฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด