In Bangkok

กทม.กำชับมาตรการป้องกันไฟไหม้หญ้า เร่งแก้กลิ่นควันเผาหญ้าในเขตประเวศ



กรุงเทพฯ-นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม. กล่าวกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากควันและกลิ่นรบกวนจากการเผาหญ้าใน ซ.เฉลิมพระเกียรติ 28 เขตประเวศว่า สำนักงานเขตประเวศ อยู่ระหว่างค้นหาข้อมูลเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินว่างเปล่าแปลงที่เกิดเหตุไฟลุกไหม้ เพื่อแจ้งถึงหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 8 (2) ไม่ปล่อยปละละเลยให้ต้นไม้ หรือธัญพืชที่ตนปลูกไว้ หรือที่ขึ้นเองในที่ดินของตนให้เหี่ยวแห้ง หรือมีสภาพรกรุงรัง หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยในบริเวณที่ดินของตน และมาตรา 32 (2) ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยในที่ดินของตนในสภาพที่ประชาชนอาจเห็นได้จากที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากไม่ดำเนินการจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะได้ดำเนินการกับที่ดินว่างเปล่าแปลงอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนั้น ยังได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและ อปพร.เขตประเวศ ประชาสัมพันธ์ ตรวจตรา สอดส่องในพื้นที่เขต ห้ามไม่ให้มีการเผาขยะมูลฝอยและเผาวัชพืชในพื้นที่ว่างโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกันได้มีหนังสือประสานสถานีตำรวจนครบาล (ส.น.) ประเวศ สน.อุดมสุข สน.พระโขนง และ สน.บางนา ขอให้ช่วยสอดส่องดูแลผู้ลักลอบเผาหญ้า เผาขยะมูลฝอย หรือเผาวัชพืชในที่ดิน หากพบขอให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า สถิติไฟไหม้หญ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมือง รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยในปี 2563 มีเหตุไฟไหม้หญ้า จำนวน 2,528 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 1,646 ครั้ง และปี 2565 จำนวน 1,300 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องไปถึงฤดูร้อน เหตุไฟไหม้หญ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน อาทิ เรื่องกลิ่นและควันไฟที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีผลต่อสุขภาพและก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ รวมถึงเป็นมลพิษด้านฝุ่น PM2.5 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้มีประกาศ กทม.เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แจ้งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินและประชาชนทราบและปฏิบัติ ดังนี้ (1) สำรวจพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อกำหนดให้เป็นจุดเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้เผาหญ้าและขยะในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า (2) งดการเผาซากวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร  (3) งดการเผาขยะมูลฝอย การเผาหญ้า เศษกระดาษในชุมชน และบริเวณริมถนนสองข้างทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากกลุ่มควันจากการเผาไหม้บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ  (4) จัดทำรั้วกั้นรอบพื้นที่ของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนำขยะมาทิ้งและขอให้กำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้หญ้า และ (5) ให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบปรับปรุงข้อมูลพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่กวดขัน จับกุมผู้ที่กระทำการเผาหญ้าและลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า ทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุไฟไหม้หญ้า หรือกองขยะ สามารถแจ้งเหตุทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่และรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุโดยเร็ว