In Bangkok
ผู้ว่าฯกทม.ถกหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ชู5เรื่องเดินหน้า/ยันไฟส่งสว่างมี.ค.นี้จบ

กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯชัชชาติ จัดประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกทม. อัปเดตความคืบหน้า เตรียมขยายผลจุดบริการด่วนมหานครตามห้างหรือพื้นที่เอกชน ผุด 3 ไอเดียแก้ปัญหา เสนอรัฐบาลชุดหน้า เสนอปรับและพิจารณาแผนย้ายท่าเรือคลองเตย เสนอยกถนนเป็นแนวกั้นน้ำทะเลหนุน เร่งสำรวจพื้นที่โซนสีแดงที่ไม่มีเจตนาทำการเกษตรที่แท้จริง เพื่อเสนอเก็บภาษีอัตราพิเศษ ส่วนเรื่องไฟส่องสว่างคาดเดือนนี้ซ่อมไฟสว่างครบ เร่งขุดลอกท่อให้ทันตามแผนรับฝน
(2 มี.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ว่า วันนี้เป็นการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน หรือการประชุมร่วมกับระดับ ผอ.เขต เพื่อไล่ติดตามงานต่าง ๆ ซึ่งก็มีความคืบหน้าในทุกด้าน อาทิ ไฟฟ้าแสงสว่าง หาบเร่แผงลอย การเตรียมรับมือน้ำท่วม การศึกษา โดยได้สั่งการให้สำนักงานเขตพยายามประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับเรื่องที่คืบหน้าเยอะตอนนี้ก็คือเรื่องการซ่อมไฟ เหลืออีกประมาณ 3,700 ดวง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดเดือนมีนาคมนี้ แต่อาจจะมีบางเขตที่เสร็จไม่ทันเดือนมีนาคมจริง ๆ ก็คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จใกล้เคียงกัน เรื่องการขุดลอกท่อระบายน้ำ จะมีปัญหาในเรื่องของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทำสัญญาช้าอยู่ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องแรงงาน เพราะกรุงเทพมหานครจ้างเยอะ แต่การทำงานของกรมราชทัณฑ์ต้องดูปริมาณเลนและองค์ประกอบต่าง ๆ เพิ่มเติม ไม่ได้มีปัญหาเรื่องค่าจ้างเพราะมีอัตรากำหนดไว้อยู่แล้ว ต้องขอบคุณกรมราชทัณฑ์ ที่ผ่านมาทำอย่างเต็มที่ ดำเนินการได้ดี ละเอียด และมีคุณภาพ แต่อาจจะติดขัดเรื่องของจำนวนคนและความคล่องตัวของระบบราชการ ส่งผลทำให้ความคืบหน้าเป็นไปได้ช้า จึงได้มีการพูดคุยกันว่าถ้าสิ้นเดือนกุมภาพันธ์แล้วยังไม่คืบหน้าก็อาจจะมีการหารือจ้างเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการ โดยได้มีการมอบอำนาจตามสายปฏิบัติงานให้สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตสามารถดำเนินการได้เลย แต่ได้กำชับว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนในการดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครสามารถลอกท่อระบายน้ำไปได้เยอะพอสมควรแล้ว น่าจะประมาณ 40% คาดว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้และทันรับฝนปีนี้ ส่วนเรื่องอื่น ๆ อาทิ การทำสวน 15 นาที การทำถนนสวยในแต่ละเขต การศึกษา การปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข ก็ได้มีความก้าวหน้าในหลายด้านแล้ว
● เตรียมขยายผลจุดบริการด่วนมหานครตามห้างหรือพื้นที่เอกชน
เมื่อวานนี้ได้ไปตรวจเยี่ยมจุดบริการด่วนมหานคร (Bangkok Express Service) สำนักงานเขตปทุมวัน ที่บริเวณสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน ชั้น 5 โซน A ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งมีทั้งบริการทำบัตรประชาชน คัดรับรองสำเนาเอกสารฉบับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ได้แก่ ทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด (คัดได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน) ทะเบียนคนตาย (คัดได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน) ทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนที่มีในฐานข้อมูล นอกจากนี้กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ยังมีบริการหนังสือเดินทาง บริการรับรองนิติกรณ์เอกสาร ในบริเวณเดียวกันด้วย ซึ่งมีผู้มาใช้บริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก จึงให้แนวคิดไปว่า ให้พิจารณาหาพื้นที่ของเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มีที่จอดรถสะดวก ค่าใช้จ่ายไม่แพง (เพราะไม่ต้องสร้างอาคารใหม่) สำหรับการให้บริการประชาชนในรูปแบบสำนักงานเขตย่อย/ศูนย์บริการสาธารณสุขย่อย/คลินิกพิเศษของโรงพยาบาลสังกัดกทม. เพื่อให้การบริการของกทม.สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะลองขยายผลต่อไป
● ผุด 3 ไอเดียแก้ปัญหา เสนอรัฐบาลชุดหน้า
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กทม.มีเรื่องที่จะเสนอก่อนจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ เรื่องย้ายท่าเรือคลองเตย เรื่องที่สองคือ แผนในการรับมือน้ำทะเลหนุนสูง เรื่องที่สามคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเห็นด้วยกับเรา นำข้อเสนอเราไปเป็นนโยบาย ก็จะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสพิจารณานโยบายก่อนการเลือกตั้ง แต่หากเราไปเสนอหลังจากเลือกตั้งแล้ว ประชาชนก็จะไม่มีโอกาสได้เลือกว่าชอบนโยบายไหน ซึ่งการเสนอเชิงนโยบายนี้เป็นวิธีหนึ่งตามระบอบประชาธิปไตย
• 1. เสนอปรับและพิจารณาแผนย้ายท่าเรือคลองเตย
สำหรับแนวคิดการย้ายท่าเรือคลองเตย เป็นเรื่องที่อยู่ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งมีอยู่แล้วแต่อาจจะยังไม่ได้ดำเนินการจริงจัง โดยการย้ายท่าเรือคลองเตยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาระยะยาวเป็น 10 ปี ถ้าไม่เริ่มนับหนึ่งวันนี้ก็คงยาก ตอนนี้ได้สั่งการให้มีการวัดปริมาณฝุ่นแถวคลองเตยแล้วดูผลกระทบต่าง ๆ ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในช่วงหลังท่าเรือแหลมฉบังได้มีการบริหารจัดการเป็นกรีนพอร์ต คือเป็นพอร์ตซึ่งมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการทำรถไฟเชื่อมมาที่ ICD ลาดกระบัง ก็เป็นการเพิ่มการขนส่งทางรถไฟมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็น่าจะตอบโจทย์หากมีตู้คอนเทนเนอร์ไปลงที่แหลมฉบังมากขึ้น ปัจจุบันเข้าใจว่าตู้ที่ไปแหลมฉบังมีประมาณ 10 ล้านตู้ ที่กรุงเทพฯ ประมาณ 1 ล้านตู้ หรือแค่ประมาณ 10% การย้ายไปก็น่าจะสามารถทำได้ ซึ่งถ้าฝ่ายรัฐบาลรับแนวคิดนี้ไป ก็ต้องมองทั้งแง่บวกและแง่ลบอื่น ๆ ประกอบ เช่น เรื่องการจ้างงาน เป็นต้น ดังนั้นคงต้องคิดให้รอบด้านอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการเสนอแนวคิดนี้ ไม่ได้มีเจตนาอะไร เป็นเพียงการเสนอให้เอาแผนวาระแห่งชาติมาปรับหรือพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะมีบางส่วนก็ไม่อยากให้ย้าย ต้องให้รัฐบาลมาช่วยพิจารณาด้วย เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจกรุงเทพมหานคร แต่ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนไหนจะนำนโยบายนี้ไปเสนอให้ประชาชนพิจารณาด้วยก็น่าจะดี ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชน เราคิดว่าถ้าย้ายท่าเรือคลองเตยไปได้ก็จะมีผลดีจากการที่เรือที่ไม่ต้องเข้ามา จำนวนรถบรรทุกก็น้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อการบำรุงรักษาถนนและการจราจรที่ดีขึ้น ลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง ตลอดจนมีพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวหรือปอดแห่งใหม่กลางเมืองด้วย
• 2. เสนอยกถนนเป็นแนวกั้นน้ำทะเลหนุน
นอกจากนี้ยังมีแผนรับมือน้ำทะเลสูง ซึ่งเป็นแผนที่คิดจะเสนอรัฐบาลต่อไป ขณะนี้เรากำลังทำแนวคิดอยู่ เพราะเรื่องการยกตัวของน้ำทะเลอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต ซึ่งได้มีแนวคิดหนึ่งคือการทำแนวกันน้ำริมอ่าวไทย โดยจะเป็นการยกถนนของทางหลวงชนบท ถนนที่อยู่ริมอ่าวไทย ถนนสุขุมวิทสายเก่า เพื่อทำเป็นแนวกั้นน้ำ ซึ่งคงไม่ได้แพงเพราะว่าเป็นถนนที่มีอยู่แล้ว ก็แค่ทำให้ยกระดับขึ้น และอาจจะมีการเชื่อมต่อกับตัวกั้นน้ำหรือแบริเออร์กันน้ำอย่างที่ในต่างประเทศทำ เพื่อป้องกันเวลาน้ำทะเลหนุน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเป็นคนช่วยคิดด้วย ในส่วนของ กทม. เรามีชายทะเลอยู่แค่ประมาณ 4-5 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เรื่องแนวกั้นน้ำคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นผู้ทำ โดยต้องคิดเป็นนโยบาย ซึ่งเรื่องนี้ก็จะต่อเนื่องกับการย้ายท่าเรือ คือ เมื่อเรือใหญ่เข้ามาในแม่น้ำน้อยลง การคิดเรื่องการป้องกันน้ำทะเลหนุนก็จะสะดวกขึ้น แต่ถ้ายังมีเรือใหญ่เข้ามาอยู่จำนวนมาก การจะกั้นน้ำก็จะต้องเว้นไว้ให้เรือเข้า-ออก ดังนั้น 2 เรื่องนี้จะต้องจัดทำแนวคิดเสนอรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลไปถกข้อดีข้อเสียต่อไป
• 3. เร่งสำรวจพื้นที่โซนสีแดงที่ไม่มีเจตนาทำการเกษตรที่แท้จริง เพื่อเสนอเก็บภาษีอัตราพิเศษ
ในส่วนของเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร ท้องถิ่นทุกที่ก็มีปัญหาเรื่องนี้ แต่กรุงเทพมหานครอาจจะโดนเยอะหน่อยเพราะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปทำเกษตร ปัจจุบันกำลังให้สำนักงานเขตรวบรวมตัวเลขแปลงที่ดินที่ทำเกษตรแต่มีเจตนาไม่ได้ทำเกษตรแท้จริงว่ามีเท่าไร เพราะมีผลต่อการเก็บภาษีที่หายไปค่อนข้างเยอะ เคยเสนอแนวคิดไปว่าพื้นที่เกษตรที่อยู่ในโซนสีแดงขอเก็บภาษีอัตราพิเศษได้ไหม เพราะอยู่ในพื้นที่พาณิชย์ไม่ควรทำการเกษตร แต่กระทรวงการคลังยังไม่อนุญาต อย่างไรก็ตามต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ให้กระทบกับพี่น้องเกษตรกรตัวจริง ซึ่งกรุงเทพมหานครมีเกษตรกรตัวจริงอยู่ในพื้นที่หนองจอก มีนบุรี จำนวนมาก ขณะเดียวกันไม่อยากให้กฎหมายนี้ถูกใช้ผิดไปจากเจตนารมย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้อยู่นอกอำนาจของเรา แต่เป็นตัวช่วยหนึ่งที่เสนอในเชิงนโยบายได้