In Bangkok
'จักกพันธุ์'บุกเขตบางกอกนอ้ยดูแยกขยะ สำรวจHawker Center/ดูจัดเก็บภาษี

กรุงเทพฯ-สำรวจ Hawker Center ปากซอยโรงพยาบาลเจ้าพระยา ต้นแบบแยกขยะเขตบางกอกน้อย ติดตามการจัดเก็บภาษีผ่านระบบ BMA TAX คุมเข้มฝุ่น PM2.5 อาคารชุดดีคอนโดพนา ชมแยกขยะตลาดศาลาน้ำร้อน ส่องสวน 15 นาทีศาลาต้นจันทน์
(2 มี.ค.66) เวลา 14.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ประกอบด้วย
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณหน้าปากซอยโรงพยาบาลเจ้าพระยา ถนนบรมราชชนนี ซึ่งเป็นตลาดนัดของเอกชน มีแผงค้าทั้งหมด 80 แผง เจ้าของตลาดพร้อมให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้า โดยมีแผงค้าว่างอยู่ 13 แผง สามารถรองรับผู้ค้าที่จะย้ายเข้ามาทำการค้าในตลาด จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนดไว้ สำหรับ Hawker Center เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center อาจจะเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงย้ายผู้ค้าที่อยู่ติดถนนใหญ่หรือปากซอยให้เข้าไปด้านใน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางกอกน้อย มีข้าราชการและบุคลากร 250 คน ประชาชนที่มาติดต่อราชการ 200 คน/ต่อวัน วิธีการคัดแยกขยะตามประเภท โดยดำเนินการคัดแยก ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) แม่บ้านรวบรวมมาให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปใช้ประโยชน์ โดยส่งมอบให้โครงการมือวิเศษ กรุงเทพฯ 2.ขยะอินทรีย์ (ถังสีเขียว) แม่บ้านรวบรวมมายังจุดทิ้งขยะ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะอินทรีย์ทุกวัน โดยมีผู้รับนำไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารปลา 3.ขยะอันตราย (ถังสีส้ม) แม่บ้านรวบรวมขยะอันตรายมายังจุดทิ้งขยะ ส่งโรงกำจัดขยะหนองแขมนำไปกำจัดโดยถูกวิธี 4.ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) แม่บ้านรวบรวมไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน 5.ขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง) ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะนำไปไว้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 (วัดเจ้าอาม) เพื่อรอบริษัทกรุงเทพธนาคมมาจัดเก็บต่อไป สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ก่อนคัดแยก 500 กก./เดือน หลังคัดแยก 280 กก./เดือน ขยะรีไซเคิล หลังคัดแยก 150 กก./เดือน ขยะอินทรีย์ หลังคัดแยก 82 กก./เดือน ขยะอันตราย หลังคัดแยก 2 กก./เดือน ขยะติดเชื้อ หลังคัดแยก 0.3 กก./เดือน
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้และติดตามการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ รวมถึงการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX) และระบบจัดเก็บภาษีสำหรับน้ำมันฯ แบบใหม่ (OIL TAX) ผ่านทางเว็บไซต์ ศักยภาพของอุปกรณ์ที่ใช้งานและประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนติดตามการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารชุดดีคอนโดพนา ถนนสุทธาวาส ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดอยู่อาศัยความสูง 8 ชั้น จำนวน 2 หลัง ห้องพัก 541 ห้อง ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้แก่ การฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง การปิดคลุมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ การขนย้ายวัสดุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองต้องมีการปกปิดที่มิดชิด ตรวจสอบบำรุงรักษาสภาพเครื่องยนต์เครื่องจักรที่ใช้ก่อสร้าง การล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกพื้นที่ก่อสร้าง การตรวจวัดควันดำรถบรรทุก ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการดูแลทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษดินเศษทรายตกค้าง เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ตลาดศาลาน้ำร้อน พื้นที่ 22,000 ตารางเมตร จำนวน 4 อาคาร ประชากร 900 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2558 วิธีการคัดแยกขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เขตฯ จัดเก็บเศษผัก เปลือกผลไม้ต่างๆ เป็นประจำทุกวัน ประมาณวันละ 4-5 ตัน ส่งศูนย์กำจัดสิ่งปฏิกูลและไขมันหนองแขม เพื่อแปรสภาพเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นอกจากนี้ เขตฯ มีโครงการส่งเสริมการแปรรูปมูลฝอยอินทรีย์ โดยใช้เปลือกผลไม้จากผู้ค้าในพื้นที่เขตฯ มาทำน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล ตลาดศาลาน้ำร้อนจัดเก็บและจำหน่ายเอง 3.ขยะทั่วไป เขตฯ นำรถขยะแบบอัดขนาด 5 ตัน จัดเก็บทุกวัน นำส่งโรงกำจัดขยะหนองแขม 4.ขยะอันตราย ตลาดศาลาน้ำร้อนดำเนินการคัดแยก เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ก่อนคัดแยก 9,000 กก./วัน หลังคัดแยก 4,500 กก./วัน ขยะอินทรีย์ หลังคัดแยก 3,000-4,500 กก./วัน ขยะอันตราย หลังคัดแยก 1-3 กก./เดือน ขยะติดเชื้อ หลังคัดแยก 0.5 กก./เดือน
สำรวจสวน 15 นาที (สวนใหม่) บริเวณที่ว่างตรงข้ามซอยอรุณอมรินทร์ 20 ศาลาต้นจันทน์ ถนนอรุณอัมรินทร์ พื้นที่ 23.5 ตารางวา (94 ตารางเมตร) เป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน สำนักการโยธาได้ตรวจสอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3557 ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินกรุงเทพมหานคร เขตฯ ได้พัฒนาทำความสะอาด เก็บมูลฝอยและเศษหินเศษปูนจากการทุบอาคารออกจากพื้นที่ นำต้นไม้วางประดับ วางเครื่องออกกำลังกายและเก้าอี้นั่ง เพื่อป้องกันการบุกรุกและลักลอบทิ้งมูลฝอย ที่ผ่านมาสำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมการพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ เมื่อวันที่ 11-13 มกราคม 2566 และมีการนำเสนอผลงานการออกแบบสวน 15 นาที ปัจจุบันดำเนินการออกแบบสวน 15 นาทีเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณในการสร้างสวนใหม่
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกน้อย สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล