In News

สธ.เตรียมให้อบจ.ยืนยันความพร้อมก่อน เข้าบริหาร'สอน./รพ.สต.'ถ่ายโอน1เม.ย.นี้



นนทบุรี-รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยเตรียมทำแบบฟอร์มให้ อบจ.ยืนยันความพร้อมบริหาร สอน./รพ.สต. ที่รับถ่ายโอนแบบเบ็ดเสร็จ ส่งกลับภายในวันที่ 22 มี.ค.นี้ หากพร้อมให้บริหารเองทันทีวันที่ 1 เม.ย. หากไม่พร้อมให้ระบุสาเหตุหรือความต้องการช่วยเหลือ เพื่อลดผลกระทบต่อการบริการประชาชน

วันนี้ (3 มีนาคม 2566) นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า การถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต.ในปีงบประมาณ 2566 ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยทยอยถ่ายโอนจนครบตามเป้าหมาย 3,263 แห่งใน 49 จังหวัดและขณะนี้จะครบระยะเวลา 6 เดือน ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามให้ความช่วยเหลือ เพื่อลดผลกระทบประชาชน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 จะให้ อบจ.ที่มีความพร้อมดำเนินการบริหารจัดการ สอน./รพ.สต.ที่รับถ่ายโอนอย่างเบ็ดเสร็จ เช่น การจ้างบุคลากร แพทย์ และพยาบาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยังคงติดตามเฝ้าระวังในการดูแลประชาชน โดยจะทำแบบฟอร์มให้ อบจ.ประเมินและยืนยันว่า มีความพร้อมบริหารจัดการหรือไม่ และรวบรวมส่งกลับมาภายในวันที่ 22 มีนาคมนี้

“หากอบจ. ใดยืนยันว่าพร้อมบริหารแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมให้บริการประชาชน ก็ให้บริหารจัดการเองได้ทันทีในวันที่ 1 เมษายน แต่ถ้าไม่พร้อม ต้องแจ้งสาเหตุความไม่พร้อมและระบุว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใดเป็นระยะเวลาเท่าไร เพื่อให้สำนักงานสาธารณสุขเตรียมการช่วยผลักดัน ลดการติดขัด ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ รวมถึงรวบรวมข้อมูลส่งไปยังคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ด้วย” นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าว

นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานด้านกฎหมายการถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. เช่น การโอนเงินสนับสนุนการดำเนินงานด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ และระบบการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ที่ค้างจ่ายปี 2565 หรือเงินบำรุงค้างท่อ เนื่องจากระเบียบเงินบำรุงฯ ไม่เปิดช่องให้โอนเงินไปยังหน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงให้กรมบัญชีกลางทราบแล้ว ส่วนการควบคุมการประกอบวิชาชีพทันตกรรม ที่มีปัญหาเจ้าหน้าที่ทันตาภิบาลที่ถ่ายโอนไปไม่สามารถให้บริการทันตาภิบาลได้ เนื่องจากต้องให้บริการภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ทันตแพทย์จากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ช่วยทำหน้าที่ควบคุมดูแลทันตาภิบาลในพื้นที่ไปก่อนนั้น ได้เสนอแนวทางแก้ไขตามกฎหมาย โดยเสนอให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ แก้ไขเพิ่มเติมแนวทางการถ่ายโอนและร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ต่อไป