In News

นายกฯหนุนวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ใช้'Marine GI Portal Platform'ช่วย



กรุงเทพฯ-​โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ มุ่งส่งเสริมการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ใช้เทคโนโลยีผ่านระบบ “Marine GI Portal Platform” เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง

วันนี้ (4 มีนาคม 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำการส่งเสริมการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งให้ครอบคลุมตามบริบทและสภาพการณ์ทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับแนวทางการทำงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีมาปฏิบัติเป็นรูปธรรม สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีผ่านระบบ Marine GI Portal Platform เพื่อการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ รักษาระบบนิเวศ บูรณาการความร่วมมือได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ระบบ “Marine GI Portal Platform” เป็นความร่วมมือจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย GISTDA เป็นผู้พัฒนาระบบ Marine GI Portal Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มประเมินและติดตามระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง (https://portal.marineportal.gistda.or.th/#/?f=dataset) เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนคลังข้อมูลที่เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์ โดยจะนำข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลโดยเฉพาะ สามารถบอกข้อมูลที่ชัดเจนในรูปแบบแผนที่ (maps), ตาราง (tables), กราฟ (charts) และการสร้างเว็บไซต์เรื่องราว (Geostories) เพื่อนำเสนอ รวมถึงนำเข้าไฟล์ทั้งเอกสาร บทความ จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบ ให้ผู้ใช้ระบบสามารถทราบข้อมูลได้อย่างละเอียด 

โดย Marine GI Portal Platform ประกอบด้วย 4 เครื่องมือสำคัญ คือ 1. คลังข้อมูลภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่ง 2. เครื่องมือการวิเคราะห์ความขัดแย้งการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ทางทะเล 3. เครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลสถานภาพป่าชายเลนแบบอัตโนมัติ และ 4. เครื่องมือวิเคราะห์การรั่วไหลของคราบน้ำมันในทะเล โดยปัจจุบันมีการนำ Marine GI Portal ไปใช้งานในหลายด้าน อาทิ การรวบรวมข้อมูลจากสถานีเรดาร์ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 24 สถานี ข้อมูลคุณภาพน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียม งานสำรวจอนุรักษ์เพื่อศึกษาการมีอยู่ประชากรวาฬและโลมาเพื่อใช้ประเมินว่า ทะเลในย่านนั้นมีความอุดมสมบูรณ์หรือไม่ รวมไปถึงการคาดการณ์การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเลเพื่อหาแนวทางป้องกันและรับมือได้อย่างทันท่วงที

“นายกรัฐมนตรีคำนึงถึงการรักษาระบบนิเวศทางทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินและวิเคราะห์แผนการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการมีระบบ Marine GI Portal Platform จะเป็นคลังข้อมูลด้านผลประโยชน์ทางทะเลที่เข้าถึงได้ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ต่อยอดยังชนรุ่นหลัง เพิ่มประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว