In News

สธ.เผยยอดค่าใช้จ่ายสู้กับโรคโควิดใน3ปี ไทยถลุงเงินไปกว่า4.44แสนล้านบาท



กรุงเทพฯ-กระทรวงสาธารณสุข เผยผลศึกษาไทยใช้จ่ายด้านสาธารณสุขรับมือ "โควิด" ปี 2563-2565 รวม 444,294 ล้านบาท กว่าครึ่งเป็นค่าบริการสุขภาพ ทั้งตรวจคัดกรอง รักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน รวม 260,174 ล้านบาท ตามด้วยค่าจัดซื้อ บริหารจัดการวัคซีน 77,987 ล้านบาท

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลศึกษาไทยใช้จ่ายด้านสาธารณสุขรับมือ "โควิด" ปี 2563-2565 รวม 444,294 ล้านบาท กว่าครึ่งเป็นค่าบริการสุขภาพ ทั้งตรวจคัดกรอง รักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน รวม 260,174 ล้านบาท ตามด้วยค่าจัดซื้อ บริหารจัดการวัคซีน 77,987 ล้านบาท และค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย ค่าเสี่ยงภัย 57,499 ล้านบาท 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) ในฐานะประธาน คกก.ฯ MIU (MOPH Intelligence Unit) กล่าวว่า จากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการเงินการคลังสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย พบว่า แหล่งงบประมาณหลักด้านสาธารณสุขในการรับมือการระบาดของโรคโควิด 19 มาจากงบกลางและงบเงินกู้ กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด 19 ระหว่างปี  2563-2565 รวมทั้งสิ้น 444,294 ล้านบาท เป็นค่าบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 เช่น ค่าตรวจคัดกรอง ค่ารักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน เป็นต้น ในสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 260,174 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตามด้วยการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน รวม 77,987 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17 และค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับบุคลลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง 57,499 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ส่วนที่เหลือเป็นค่ายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ และองค์กรการวิจัยและพัฒนา ฯลฯ 

นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า สำหรับสถานะเงินบำรุงของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสถานะเงินบำรุงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่นเดียวกับภาพรวมของรายได้และอัตราการเพิ่มของสินทรัพย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าเงินที่อุดหนุนโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพียงพอในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 ส่วนภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 พบว่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด พบว่า มีความเสี่ยงในการล้มละลายลดลงร้อยละ 30-33 อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลพยายามสร้างกลไกการตัดสินใจด้านการคลังสุขภาพในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ให้แตกต่างจากสถานการณ์ปกติ แต่กฎระเบียบและวิธีการใช้เงินไม่ได้แตกต่างจากกลไกเดิมมากนัก ส่งผลต่อความรวดเร็วในการตอบสนองต่อการระบาดของโรค