In News
'สมศักดิ์'ถกรับฟังข้อเสนอร่างกม.ปศุสัตว์ สมาคมวัวชน-นายสนามภาคใต้ที่สงขลา
สงขลา-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยกคณะหารือสมาคมวัวชน-นายสนามภาคใต้ ฟังข้อเสนอร่าง กม.ปศุสัตว์ ชี้จะทำกฎหมายต้องลงพื้นที่หาข้อมูลจริงเพื่อให้เป็นของประชาชน เล็งถก 8 กระทรวง-สมาคมสัตว์ต่างๆ รวมเป็นฉบับเดียว ตีกรอบ 6 เดือนต้องเสร็จ
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และคณะทำงานร่างกฎหมาย ได้ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมกีฬาชนโคไทยและผู้ประกอบการ ที่ จ.สงขลา โดยมีนายธีระ วงศ์สมุทร อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษาสมาคมฯ นายชาคริต รองสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยกรรมการสมาคม นายสนามชนโค 40 แห่ง ในภาคใต้ ร่วมประชุมและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการร่างกฎหมายส่งเสริมปศุสัตว์ ซึ่งการร่างกฎหมายส่งเสริมปศุสัตว์ จะเป็นการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทุกฉบับ ซึ่งมีถึง 8 กระทรวง มารวมไว้ในกฎหมายเดียว เหมือนตอนที่เราทำประมวลกฎหมายยาเสพติดที่รวมกฎหมาย 24 ฉบับเป็นฉบับเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการบังคับใช้และปรับสิ่งที่ล้าหลังให้ทันสมัย โดยตนได้กำหนดกรอบเวลาไว้ที่ 6 เดือนในการร่างกฎหมายฉบับนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กีฬาชนโคหรือวัวชน มีสมาคมที่เข้มแข็งจึงต้องรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับใช้ในการร่างกฎหมายต่อไป วันนี้กระทรวงมหาดไทย ได้อนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันประเภทสัตว์ต่อสู้กันหรือแข่งขันสัตว์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งกีฬาสัตว์ท้องถิ่น เช่น วัวชน ไก่ชน ปลากัด และม้า จัดการแข่งขันและเล่นพนันได้ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็น Soft Power ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทย โกอินเตอร์ เป็นที่น่าสนใจของชาวต่างชาติ และเราต้องทำกติกาให้เป็นสากล ลดการบาดเจ็บของสัตว์ และมีการทำสัญลักษณ์ให้ชัดว่าตัวไหนเป็นฝั่งไหน ซึ่งการรับฟังครั้งนี้ก็ได้ข้อเสนอและรับรู้ปัญหาหลายอย่าง เช่น เจ้าของวัวบางตัวไม่ยอมให้พันเขาสีแดง เพราะเกรงว่าจะเกิดความตื่นกลัว เราจึงจะค่อยๆปรับโดยใช้สีอื่นแทน
"นอกจากได้หารือกับสมาคมและผู้ประกอบการแล้ว ตนยังได้นำคณะทำงานลงพื้นที่ไปที่สนามวัวชน 3 แห่ง คือ จ.พัทลุง ตรัง และสงขลา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง ว่าในการแข่งขันเป็นอย่างไร สภาพสนามต้องมีการวางกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง ซึ่งการที่เราจะร่างกฎหมายนั้น ต้องลงไปสำรวจและเก็บข้อมูลในสถานที่จริงและพูดคุยกับผู้ประกอบการ ผู้เลี้ยงและผู้ชม เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างถูกต้องในการนำมาร่างกฎหมาย เพราะหากเราคิดเองร่างเอง โดยไม่ถามคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ก็จะไม่ใช่กฎหมายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากนี้คณะทำงานก็จะมีการหารือกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง และจะมีการแยกรายการสัตว์แต่ละประเภทเพื่อคุยกับทุกสมาคม เพื่อให้ร่างกฎหมายออกมาอย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด" นายสมศักดิ์ กล่าว