In News

การลงทุนขอรับใบอนุญาตต่างด้าวม.ค.66 มูลค่ากว่า5พันล.มี'ญี่ปุ่น-สิงคโปร์-สหรัฐฯ'



กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย ตัวเลขการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเดือนมกราคม 2566 เงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 5 พันล้านบาท มั่นใจเศรษฐกิจไทยมั่นคงพร้อมฟื้นฟู

วันนี้ (6 มีนาคม 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เดือนมกราคม ปี 2566 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 52 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 22 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,129 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 298 คน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือนมกราคม 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุน 683 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าตลอดปี 2566 จะมีนักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท 

อนึ่ง ชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 
1. ญี่ปุ่น 14 ราย (ร้อยละ 27) เงินลงทุน 3,588 ล้านบาท 
2. สิงคโปร์ 6 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 410 ล้านบาท 
3. สหรัฐอเมริกา 6 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 9 ล้านบาท 
4. สหราชอาณาจักร 5 ราย (ร้อยละ 10) เงินลงทุน 98 ล้านบาท และ 
5. จีน 3 ราย (ร้อยละ 6) เงินลงทุน 548 ล้านบาท 

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การทำงานของรัฐบาลมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ ประเทศไทยมีศักยภาพต่างชาติสนใจที่จะร่วมค้าร่วมลงทุนด้วย ทั้งการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสมผ่านการประเมินตามสถานการณ์โลก โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน ศักยภาพในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค สภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาค คมนาคมขนส่งสะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐาน ชื่อเสียงที่ดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะสนับสนุนปัจจัยเหล่านี้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน สมดุล ต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว