In Thailand
เปิดงานสืบสานตำนานพันปีประเพณีไหว้พระธาตุตำบลปราสาท
ศรีสะเกษ-ที่วัดปราสาท ผู้ว่าฯศรีสะเกษ เปิดงานสืบสานตำนานพันปีประเพณีไหว้พระธาตุตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน ประจำปี 2566
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ที่วัดปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนางมัลลิกา เกษกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นประธานเปิดงานสืบสานตำนานพันปีประเพณีไหว้พระธาตุตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน ประจำปี 2566 ในระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2566 โดยมี นายมงคลพัฒน์ สรรณ์ไตรภพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพศิน ทาศิริ นายอำเภอห้วยทับทัน นายชยามร บุญเต็ม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปราสาท ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเทียวศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการอำเภอห้วยทับทัน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่อำเภอห้วยทับทัน นำข้าราชการและประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอห้วยทับทัน ร่วมในพิธีเปิดงาน ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย การฟังพระธรรมเทศนาวันมาฆบูชาทุกคืน การแห่พานไหว้พระธาตุ ขบวนแห่ข้าวจี๋ ขบวนต้นเงิน การทอดผ้าป่าสามัคคีข้าวเปลือก
การแสดงศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และการเวียนเทียนและจุดเทียน 1250 เล่ม เพื่อถวายแด่พระอรหันต์ในวันมาฆบูชา และการแสดงแสง สี เสียง วัฒนธรรมย้อนยุคอำเภอห้วยทับทัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นอำเภอห้วยทับทัน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของปราสาทบ้านปราสาท เพื่อประชาสัมพันธ์ปราสาทบ้านปราสาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของอำเภอหัวยทับทันให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศล อันจะเป็นบ่อเกิดแห่งความรัก ความสามัคคีและความศรัทธาที่จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
นายพศิน ทาศิริ นายอำเภอห้วยทับทัน กล่าวว่า อำเภอห้วยทับทัน ประกอบด้วย เทศบาลคือ เทศบาลตำบลห้วยทับทัน เทศบาลตำบลจานแสนไชย มี 5 ตำบล คือ ตำบลกล้วยกว้าง ตำบลผักไหม ตำบลเมืองหลวง ตำบลปราสาท และตำบลห้วยทับทัน มีแหล่งท่องเที่ยวปราสาทโบราณสถานคือปราสาทบ้านปราสาท ตั้งอยู่ที่วัดปราสาท ตำบลปราสาท และอำเภอห้วยทับทัน ห่างจากตัวเมืองศรีสะเกษ ประมาณ 39 กิโลเมตร ทางหลวง หมายเลข 226 ถึงอำเภอห้วยทับทัน แล้วเลี้ยวขวาเข้าตำบลปราสาทประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานแบบขอมแห่งหนึ่งที่ถูกดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ร่วมสมัยศิลปะขอมแบบบาปวน เป็นปราสาท สี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ก่อตัวยศิลาแลง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษพระธาตุหรือปราสาทบ้านปราสาท เป็นองค์ปราสาทสามยอด ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงที่ 16 ในสมัยพระเจ้าวรมันที่ 1 เป็นโบราณสถาน ที่ชาวตำบลปราสาทและพุทธศาสนิกชนทั่วไปเชื่อว่า ปราสาท 3 องค์นี้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เมื่อปี พ.ศ.2553 กรมศิลปากร ได้ทำการขุดสำรวจบริเวณปราสาทและหลุมขุดค้น บริเวณด้านหลังองค์ปราสาท
ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย เช่น เทวรูป กำไลสำริด ลูกปะคำสีส้ม กระสุนดินปืน เม็ดพลอย โครงการกระดูกมนุษย์โบราณ ที่มีอายุ ราว 1.500-3,000 ปี ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีความลึก 7 เมตร และทับหลังจำนวน 4 ชิ้น ได้แก่ ทับหลังบุคลทรงโคนนทิ ทับหลังหน้ากาลคล้ายท่อนพวงมาลัย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธิ์และทับหลังกวนเกษียรสมุทร โดยเฉพาะทับหลังกวนเกษียรสมุทร มีลักษณะเหมือนกับทับหลังกวนเกษียรสมุทรที่โคปุระ ชั้นที่ 3 ของเขาพระวิหาร คือจะมีภาชนะคล้ายโอ่งน้ำอยู่บนหลังเต่า จากการศึกษาและสำรวจของกรมศิลปากร จะไม่ปรากฏพบทับหลังลักษณะนี้ในประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศลาว กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าผู้ที่สร้างปราสาทบ้านปราสาท กับผู้ที่สร้างปราสาทเขาพระวิหารเป็นช่างสกุลเดียวกัน ปัจจุบันโบราณวัตถุที่ขุดพบ ถูกนำไปเก็บไว้ที่กรมศิลปากร ที่11 จังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้นในวันเพ็ญขึ้น15 ค่ำ เตือน 3 ของทุกปี จึงร่วมกันจัดงานสืบสานตำนานพันปี ประจำปี ขึ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีและเป็นการสักการะบรรพบุรุษชาวตำบลปราสาทต่อไป
บุญทัน-ปฐมพงษ์ ธุศรีวรรณ / ศรีสะเกษ