In News
เคาะหลักการพรฎ.กำหนดเขตที่ดินเวนคืน ก่อสร้างส่วนต่อขยายM7เข้า'อู่ตะเภา'
กรุงเทพฯ-ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนสำหรับก่อสร้างทางส่วนขยายเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษหมายเลข7 เข้าสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ ประกอบด้วยที่ดิน 20 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 3 ราย พืชผลต้นไม้ 20 ราย รวมค่าทดแทนในการเวนคืนรวมเป็นเงินงบประมาณ 107.7 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 7 มี.ค. 66 ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสำนักท้อน และตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข34 (บางวัว) ทางแยกเข้าชลบุรี ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ทางแยกเข้าพัทยาและทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข3 (บ้านอำเภอ) และทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
โดยการออกพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ ดำเนินการเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด ซึ่งให้เริ่มเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และพระราชกฤษฎีกาฯ นี้มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การดำเนินโครงการซึ่งมีการกำหนดที่ดินที่จะเวนคืนครั้งนี้ เป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางหลวงพิเศษหมายเลข7 เพื่อเชื่อมต่อเข้าสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ ประกอบด้วยที่ดิน 20 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 3 ราย พืชผลต้นไม้ 20 ราย รวมค่าทดแทนในการเวนคืนรวมเป็นเงินงบประมาณ 107.7 ล้านบาท
สำหรับทางหลวงพิเศษหมายเลข7 นี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมให้สมบูรณ์ เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งจากรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่ภาคตะวันออก ส่งเสริมการให้บริการของโครงการสนามบินอู่ตะเภาเพื่อยกระดับสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่3 ในพื้นที่ต่อเนื่องกับกรุงเทพฯ รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออก อันจะทำให้การพัฒนาอีอีซีกลายเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจที่สำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ กรมการปกครองได้สำรวจแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ แล้ว และสำนักงบประมาณได้แจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กรมทางหลวงสำหรับดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ