In Thailand
ชาวบ้านตำบลไผ่สืบสานภูมิปัญญาทำข้าวกรอบอีสานบุญเดือนสี่
กาฬสินธุ์-ผู้ใหญ่บ้านและหมอสมุนไพร บ้านคำเม็ก ตำบลไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ นำชาวบ้าน เยาวชน ร่วมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำข้าวเกรียบโบราณหรือข้าวเกรียบแบบอีสาน ผลิตภัณฑ์ “บดด้วยเท้าซาวด้วยมือ” เพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดวิธีการทำขนมพื้นบ้าน ใช้ในการทำบุญและแจกจ่ายเป็นการให้ทาน ในงานประเพณีบุญเดือนสี่ ตามฮีต 12 คอง 14
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดคำเม็ก-โนนทอง บ้านคำเม็ก นางถาวร พันผาด ผู้ใหญ่บ้านคำเม็ก หมู่ 4 นายเฉลิมศักดิ์ ทองไทย ผู้ใหญ่บ้านโนนทอง หมู่ 9 ต.ไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์พร้อมด้วยนางหนูบาล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม หมอสมุนไพร ได้นำผู้สูงอายุ สตรี และเยาวชน ทำข้าวเกรียบแบบโบราณหรือข้าวเกรียบอีสาน สำหรับใช้ในงานบุญเดือน 4 โดยชาวบ้านนำวัสดุ อุปกรณ์ มารวมกันที่วัด ในลักษณะลงขันบริจาค และร่วมกันทำข้าวเกรียบตามกรรมวิธีพื้นบ้านทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแช่ข้าวเหนียว นึ่งข้าวเหนียว บดหรือการตำข้าวเหนียว ที่ผ่านการนึ่งสุกให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกันกับส่วนประกอบด้วยครกกระเดื่อง ปรุงแต่งด้วยน้ำตาลทรายขาว งา ไข่ มะพร้าว ไข่ไก่สดหรือไข่เป็ดสด น้ำซาวข้าวและน้ำที่สกัดจากหัวเถาตดหมา ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง
นางหนูบาล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม หมอสมุนไพร กล่าวว่า ข้าวเกรียบอีสานหรือภาษากลางเรียกว่าข้าวโป่ง ถือเป็นขนมโบราณหรือขนมพื้นบ้านอีสานอีกประเภทหนึ่ง โดยชาวบ้านเรามีการอนุรักษ์และสืบสานมาหลายชั่วอายุ นิยมทำกันในช่วงบุญเดือนสี่หรือบุญมหาชาติ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่นอกจากจะใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ร่วมกันทำเพื่อถวายพระคุณเจ้าแล้ว ยังเป็นขนมขบเคี้ยวและแจกจ่ายผู้มาร่วมในงานบุญอีกด้วย
นางหนูบาลกล่าวอีกว่า การทำข้าวเกรียบโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ยังเป็นการแสดงออกถึงความสมัคสมานสามัคคีของชาวบ้านทุกช่วงวัยอีกด้วย โดยจะร่วมกันเตรียมวัสดุ อุปกรณ์มาเป็นส่วนผสมในการทำข้าวเกรียบ ตั้งแต่ไปขุดหาส่วนหัวของเถาตดหมา ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ข้าวเกรียบโป่งพอง มีกลิ่นหอม มาบดให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำ สำหรับผสมกับข้าวเหนียวนึ่งสุกและน้ำซาวข้าว ขณะตำหรือบดข้าวเหนียวให้ละเอียด ซึ่งจะทำการผสมเครื่องปรุง เช่น น้ำตาลทรายขาว งา ไข่ไก่สด มะพร้าว ให้สมานเป็นเนื้อเดียวกัน
นางหนูบาลกล่าวอีกว่า หลังจากตำหรือบดข้าวเหนียวนึ่งสุกจนละเอียด ด้วยครกกระเดื่องเข้ากับส่วนผสมต่างๆเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว นำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ วางบนแผ่นพลาสติกใส ประกบด้วยแผ่นไม้แล้วกดทับก้อนข้าวเหนียวเป็นแผ่นวงกลม จากนั้นนำมาวางเรียงกันบนผืนเสื่อ แล้วนำไปผึ่งในร่ม พอแห้งนำไปอังหรือย่างบนถ่านไฟที่ให้ความร้อนพอดี ก็จะได้ข้าวเกรียบอีสานหรือข้าวโป่งที่ให้กลิ่นหอมกรุ่น กรอบมัน น่ารับประทาน
สำหรับข้าวเกรียบอีสาน สามารถทำได้ตลอดปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่สำคัญคือ ต้องมีหัวเถาเครือตดหมา ที่มีคุณสมบัติทำให้ข้าวเกรียบโป่งพอง และมีกลิ่นหอม เป็นส่วนผสมหลัก อย่างไรก็ตาม ในการทำข้าวเกรียบตามภูมิปัญญาดังกล่าว ชาวบ้านคำเม็ก ต.ไผ่ ถือเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านในรูปแบบ “บดด้วยเท้าซาวด้วยมือ” นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์และปรุงแต่งรสชาติใหม่ โดยนำใบกัญชามาคั้นเอาน้ำ นำไปปรุงรสข้าวเกรียบอีสาน เป็นข้าวเกรียบรสชาติใหม่อีกด้วย ทั้งนี้ หากมีใครต้องการลองลิ้มชิมรสชาติข้าวเกรียบอีสาน ฝีมือชาวบ้านคำเม็ก สามารถติดต่อที่หมายเลข 062-1623496