In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงเขตปทุมวันเช็กค่าPM2.5 จัดระเบียบผู้ค้าตลาดโบ๊เบ๊ริมคลอง 



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตปทุมวัน เช็กค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์งานก่อสร้างโรงแรมอมันนายเลิศ ชูต้นแบบคัดแยกขยะอาคารสินธร ตรวจคัดแยกขยะเขตปทุมวัน ติดตามระบบการชำระภาษี BMA TAX จัดระเบียบผู้ค้าตลาดโบ๊เบ๊ริมคลอง 

(10 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตปทุมวัน ประกอบด้วย 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้าง โรงแรมอมัน นายเลิศ ถนนวิทยุ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จำนวน 1 หลัง ความสูง 36 ชั้น ชั้นลอย 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการตรวจสอบรางระบายน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการไม่ให้อุดตัน เพื่อป้องกันน้ำจากการล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกไหลออกสู่ถนนด้านนอก ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารสินธร ถนนวิทยุ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน จำนวน 3 อาคาร ประกอบด้วย 1.ทาวเวอร์ 1 ความสูง 12 ชั้น 2.ทาวเวอร์ 2 ความสูง 15 ชั้น 3.ทาวเวอร์ 3 ความสูง 29 ชั้น พื้นที่รวม 56,000 ตารางเมตร มีผู้เช่าในอาคาร 50 บริษัท มีพนักงานในอาคาร รวม 5,000 คน Retail ร้านค้า 4,500 ตารางเมตร จำนวน 28 ร้าน Food court 2,800 ตารางเมตร จำนวน 20 ร้าน ซึ่งอาคารดังกล่าวมีการรณรงค์ให้ผู้เช่าคัดแยกขยะ โดยการตั้งถังขยะเพื่อแยกประเภทขยะตามจุดต่างๆ ของอาคาร และมีการนำร่องแจกถุงขยะเขียวให้ผู้เช่า เพื่อแยกขยะเปียก และมีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ผู้เช่าคัดแยกขยะ ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของอาคาร อาทิ เช่น อีเมล์ จอ LED ตามจุดต่างๆ ของอาคาร Line Official สำหรับปริมาณขยะในภาพรวม ดังนี้ ขยะทั่วไป เฉลี่ยเดือนละ 72 ตัน ขยะรีไซเคิล เฉลี่ยเดือนละ 5.5 ตัน ขยะเปียก 18 ตัน 

ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงานเขตปทุมวัน มีข้าราชการและบุคลากร 215 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล จัดตั้งจุดรับรีไซเคิลแยกประเภท 2 จุด บริเวณชั้น 1 และชั้น 9 โดยแม่บ้านคัดแยกขาย ตั้งจุดรับขวดพลาสติกใส นำส่งโครงการพี่ไม้กวาด และรวบรวมไว้เพื่อจัดทำโครงการผ้าป่ารีไซเคิล ตั้งจุดรับพลาสติกยืดวนและนำส่งโครงการวน ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ความรู้การคัดแยกมูลฝอยให้กับบุคลากรฝ่ายต่างๆ 2. ขยะอินทรีย์ ตั้งถังรองลงรับขยะเศษอาหาร 2 จุด บริเวณชั้น 1 และชั้น 9 ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร โดยเครื่องทำปุ๋ย 24 ชั่วโมง สามารถรองรับเศษอาหารได้วันละ 5 กิโลกรัม (เศษอาหาร 5 กิโลกรัม ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ 1.5-2 กิโลกรัม) ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ฝ่ายต่างๆ ให้มีการแยกขยะเศษอาหาร 3. ขยะอันตราย ตั้งถังรองลงรับขยะอันตราย 1 จุด บริเวณชั้น 9 และรวบรวมส่งสำนักสิ่งแวดล้อม 1-2 ครั้ง/เดือน 4.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองลงรับแบบแยกประเภท 2 จุด บริเวณชั้น 1 และชั้น 9 และจัดรถเข้าดำเนินการจัดเก็บทุกวันๆ ละ 4 รอบ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 400 กิโลกรัม หลังคัดแยก 320 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 15 กิโลกรัม หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม หลังคัดแยก 48 กิโลกรัม ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม หลังคัดแยก 1.5 กิโลกรัม 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX) ในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูล เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) นอกจากนี้ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี รวมถึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและคำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 5,273 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 23,443 แห่ง ห้องชุด 9,711 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 38,293 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว 

ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณตลาดโบ๊เบ๊ริมคลอง เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 28 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 574 ราย ประกอบด้วย แขวงลุมพินี (เหนือ) ได้แก่ 1.ซอยร่วมฤดี 5 ราย 2.ซอยต้นสน 17 ราย 3.ถนนหลังสวน 24 ราย 4.ใต้ทางด่วนเพลินจิต 10 ราย 5.หน้าอาคารมหาทุน 13 ราย 6.หน้าการไฟฟ้านครหลวง 12 ราย รวม 81 ราย แขวงลุมพินี (ใต้) ได้แก่ 1.ซอยปลูกจิตต์ 24 ราย 2.ปากซอยโปโล 3 ราย 3.ตลาดประตู 5 108 ราย รวม 135 ราย แขวงปทุมวัน ได้แก่ 1.สยามสเคป 9 ราย 2.ถนนอังรีดูนังต์ ม.จุฬา 17 ราย 3.ถนนอังรีดูนังต์ ราชกรีฑา 25 ราย รวม 51 ราย แขวงวังใหม่ ได้แก่ 1.ซอยเกษมสันต์ 1 9 ราย 2.ซอยเกษมสันต์ 3 3 ราย 3.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 99 ราย 4.ข้างสะพานหัวช้าง 6 ราย 5.หน้าซอยจุฬา 4 7 ราย รวม 124 ราย แขวงรองเมือง ได้แก่ 1.โบ๊เบ๊สะพาน 1 17 ราย 2.โบ๊เบ๊สะพาน 2 21 ราย 3.โบ๊เบ๊สะพาน 3 24 ราย 4.โบ๊เบ๊สะพาน 4 16 ราย 5.โบ๊เบ๊ริมคลอง 32 ราย 6.ถนนพระราม 6 ฝั่งตะวันออก 35 ราย 7.ถ.พระราม 6 ฝั่งตะวันตก 4 ราย 8.โรงเรียนสีตบุตร (ฝั่งตรงข้าม) 16 ราย 9.หน้าแฟลตรถไฟและฝั่งตรงข้าม 8 ราย 10.ส.โบตั๋น 6 ราย 11.ถนนรองเมืองริมรั้วรถไฟ 4 ราย รวม 183 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า นอกจากนี้ให้เขตฯ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน ตลอดจนย้ายผู้ค้าที่อยู่ติดถนนใหญ่หรือปากซอยเข้าไปอยู่ด้านใน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ 

ในการมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตปทุมวัน สำนักเทศกิจ ทีมบริหารอาคารสินธร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล