In Global
ถอดรหัส...การขจัดปัญหาความยากจน ของมณฑลกุ้ยโจว
มณฑลกุ้ยโจวเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่มีประชาชนยากจนมากที่สุดในประเทศ แต่รัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวได้แก้ปัญหาความยากจนหลายแนวทาง จนในปีพ.ศ.2563 รัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวประกาศความสำเร็จสามารถทำให้ชาวกุ้ยโจวหลุดพ้นความยากจน
การขจัดความยากจนของมณฑลกุ้ยโจว กลายเป็นบทเรียนให้กับหลายๆ เมืองของจีน และประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้ สิ่งที่รัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวทำ คือ การตั้งเป้าหมายในการขจัดความยากจนให้หมดไปภายในปีพ.ศ. 2563 ตามนโยบายของรัฐบาลจีน มีการตั้งกองทุนแก้ปัญหาความยากจนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างเสริมการมีงานทำให้กับชาวกุ้ยโจว
บทเรียนความสำเร็จของการขจัดความยากจนของกุ้ยโจวเป็นกรณีศึกษาการพัฒนาชนบทที่น่าสนใจ โดย Prof. Duan Lisheng อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยจงซาน ผู้เชี่ยวชาญไทยศึกษา และพลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมถอดบทเรียนในงานเสวนา “ผลของการพัฒนาอุตสาหกรรมในชนบทจีน กรณีศึกษาหมู่บ้าน Yanbo มณฑลกุ้ยโจว”
Prof. Duan Lisheng กล่าวว่า แต่เดิมการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออก รัฐบาลจีนมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของเมืองกับชนบท มีการถ่ายโอนอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคตะวันตก ขยายอุตสาหกรรมจากเมืองสู่ชนบท ทำให้เห็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันตกและการพัฒนาในชนบท
เดิมคนในชนบท คนหนุ่มสาวย้ายไปทำงานในเมือง ในชนบทมีแต่ผู้สูงอายุ ไม่มีแรงงาน ดังนั้น การสร้างโรงงานในชนบทจึงช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ รองรับเกษตรกรให้ทำงานที่หมู่บ้าน ไม่ต้องไปทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ชนบทที่เงียบเหงากลายเป็นชนบทที่มีชีวิตชีวา
การแก้ปัญหาความยากชนของหมู่บ้าน Yanbo คือ การสร้างกลไกหล่อเลี้ยงเกษตรกร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่ใช่หาปลาแต่ต้องสอนวิธีจับปลา” โดยเริ่มต้นจากการคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งกุ้ยโจว มีสุรา “เหมาไถ” ที่มีชื่อเสียง ทางหมู่บ้านจึงทำโครงการผลิตสุรา โดยให้ชาวบ้านทำงานในโรงงานสุราและให้ถือหุ้นโรงงานสุรา มีระบบแบ่งปันผลกำไรให้ชาวบ้าน มีการสร้างแบรนด์ จนสุราของหมู่บ้านมีชื่อเสียง เป็นที่ต้องการ
พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง กล่าวว่า กรณีศึกษาการขจัดความยากจนของหมู่บ้าน Yanbo ยังมีกุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ที่กลไกของรัฐที่ให้มีการเสนอแนวคิดในการพัฒนากับผู้นำประเทศระดับชาติ โดยทางการยังได้ให้บริษัทใหญ่เข้าไปดูแลเรื่องมาตรฐานการผลิต การควบคุมคุณภาพให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของตลาด ทำให้ได้สุราที่เป็นเอกลักษณ์ คุณภาพระดับชาติและระดับโลก แต่มีราคาที่จับต้องได้
กรณีของหมู่บ้าน Yanbo มณฑลกุ้ยโจวของจีน จึงเป็นกรณีศึกษาเส้นทางการขจัดความยากจน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นตัวอย่างสำหรับคนทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่น สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาชนบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป
--------------------------------
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : สำนักข่าว Xinhua